Pol Sci

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การมีส่วนร่วมของประชาชน

การมีส่วนร่วมของประชาชนกับ
การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อ. ธนันท์วัฒน์ สภานุรัตน์

ส่วนที่ 1
ความเป็นมา

          การมีส่วนร่วมของประชาชน อาจเป็นคำที่ประชาชนคนไทยเริ่มคุ้นหูก่อนปี พ.ศ. 2540 ไม่นานนัก เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนแสดงความคิดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2540 ท้ายที่สุดร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา และถูกนำมาใช้เป็นกฎหมายแม่บทของประเทศไทยต่อมา สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ตั้งแต่เจตนารมณ์จนถึงหมวดต่างๆ ของรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ให้รัฐต้องให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน เช่น
หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง  หรือ
หมวด 9 การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 282 ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือ
พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
หมวด 4 มาตรา 30 (4) กำหนดการจัดสรรภาษีและอากร เงินอุดหนุน และรายได้อื่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม โดยในช่วงระยะเวลาไม่เกิน พ.ศ. 2544 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ และในช่วงระยะเวลาไม่เกินพ.ศ. 2549 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบห้า ทั้งนี้ โดยการเพิ่มสัดส่วนตามระยะเวลาที่เหมาะสมแก่การพัฒนา ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินกิจกรรมการบริการสาธารณะได้ด้วยตนเอง และโดยการจัดสรรสัดส่วนที่เป็นธรรมแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นด้วย
จากมาตรา 30 (4) นั้น หมายความว่า รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวอย่าง งบประมาณแผ่นดินประจำปี 2549 มีจำนวนกว่า 1,000,000 ล้านบาท นั่นหมายถึง รัฐต้องจัดสรรงบประมาณ ประจำปี 2549 จำนวนไม่น้อยกว่า 35,000 ล้านบาทให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แต่ปัจจุบันมาตราดังกล่าวถูกแก้ไขตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา (หน้า 3-4)
ถึงแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้ถูกยกเลิกจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยาน 2549 ไปแล้วก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2550 เอง ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการปกครองทั้งในระดับชาติ ได้แก่ สมาชกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) หรือการปกครองระดับท้องถิ่น เช่น การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  และการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้มีความหมายเฉพาะการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนยังหมายรวมถึง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปจนถึงการร่วมตัดสินใจและการตรวจสอบการทำงานของรัฐอีกประการหนึ่งด้วย ดังที่จะได้กล่าวต่อไป

*****************************************************************************************************************


ส่วนที่ 2
การมีส่วนร่วมของประชาชน


ความหมาย
          หลักการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง การเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาคราชการนั้น

ระดับของการมีส่วนร่วมของประชาชน
International Association for Public Participation ได้แบ่งระดับของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็น 5 ระดับ (IAP2, 2551) ดังนี้

          1. การให้ข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับต่ำที่สุด แต่เป็นระดับที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นก้าวแรกของการที่ภาคราชการจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ วิธีการให้ข้อมูลสามารถใช้ช่องทางต่าง ๆ เช่น เอกสารสิ่งพิมพ์ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางเสื่อต่าง ๆ การจัดนิทรรศการ จดหมายข่าว การจัดงานแถลงข่าว การติดประกาศ และการให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น

          2. การรับฟังความคิดเห็น เป็นกระบวนการที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและความคิดเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การรับฟังความคิดเห็น การสำรวจความคิดเห็น การจัดเวทีสาธารณะ การแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น

          3. การเกี่ยวข้อง เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน หรือร่วมเสนอแนะทางที่นำไปสู่การตัดสินใจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าข้อมูลความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนจะถูกนำไปพิจารณาเป็นทางเลือกในการบริหารงานของภาครัฐ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาประเด็นนโยบายสาธารณะ ประชาพิจารณ์ การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอแนะประเด็นนโยบาย เป็นต้น

          4. ความร่วมมือ เป็นการให้กลุ่มประชาชนผู้แทนภาคสาธารณะมีส่วนร่วม โดยเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ และมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เช่น คณะกรรมการที่มีฝ่ายประชาชนร่วมเป็นกรรมการ เป็นต้น

          5. การเสริมอำนาจแก่ประชาชน เป็นขั้นที่ให้บทบาทประชาชนในระดับสูงที่สุด โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ เช่น การลงประชามติในประเด็นสาธารณะต่าง ๆ โครงการกองทุนหมู่บ้านที่มอบอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด เป็นต้น

การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจทำได้หลายระดับและหลายวิธี ซึ่งบางวิธีสามารถทำได้อย่างง่าย ๆ แต่บางวิธีก็ต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน ค่าใช้จ่ายและความจำเป็นในการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องมีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน การรับฟังความคิดเห็น การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งพัฒนาทักษะและศักยภาพของข้าราชการทุกระดับควบคู่กันไปด้วย

          จากหลักการและความจำเป็นดังกล่าวทำให้การพัฒนาระบบราชการที่ผ่านมาได้รับการพัฒนากระบวนการบริหารราชการที่สนับสนุนการปรับกระบวนการทำงานของส่วนราชการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น หรือที่เรียกว่า การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม

          ในส่วนภาคราชการ การส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ถือได้ว่าเป็นเงื่อนไข และเป็นกุญแจดอกสำคัญของความสำเร็จของการพัฒนาระบบราชการให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและเอื้อต่อประโยชน์สุขของประชาชน เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุน และส่งเสริมให้ระบบราชการมีพลังในการพัฒนาประเทศอย่างสร้างสรรค์ อันเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาราชการยุคใหม่ที่เป็นราชการระบบเปิด

          การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของภาคราชการที่มาจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชนท้องถิ่น จะช่วยทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความใกล้ชิดกับประชาชนได้รับทราบความต้องการและปัญหาที่แท้จริง ลดความขัดแย้งและต่อต้าน ทั้งยังเป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เสริมสร้างให้ประชาชน ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจในประเด็นสาธารณะ ซึ่งเป็นบทบาทที่หน่วยงานภาคราชการจะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้น

          อย่างไรก็ตาม การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นหุ้นส่วน จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหน่วยงานราชการต่าง ๆ จะสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากน้อยเพียงใด รวมทั้งต้องอาศัยกระบวนการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคมที่เป็นพันธมิตรของภาคราชการ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ภาคราชการจะต้องร่วมมือกันเปิดระบบราชการให้ประชาชนมีส่วนร่วม   เพื่อทำให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เกิดการแบ่งสรรทรัพยากรอย่างยุติธรรม  และลดความขัดแย้งในสังคม และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างกลไกของการพัฒนาระบบราชการที่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนนั่งเอง

*****************************************************************************************************************

ส่วนที่ 3
การมีส่วนร่วมของประชาชน
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย พ.ศ. 2550

          เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ถูกร่างขึ้นจากบริบททางสังคมที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากภาวะปกติ โดยมองถึงปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ดังนั้น ผู้ร่างจึงพยายามเขียนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ให้มีสาระสำคัญ ดังนี้

สาระสำคัญ

สำหรับสาระสำคัญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มุ่งจะดำเนินการใน 4 แนวทางด้วยกัน
1.      การคุ้มครอง ส่งเสริม และการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่
2.      การลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
3.      การทำให้บ้านเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม
4.      การทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งแนวทางทั้ง 4 ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตราต่างๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.  การคุ้มครอง ส่งเสริม และ การขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่
รัฐธรรมนูญจะต้องไม่ใช่รัฐธรรมนูญของคนเพียงกลุ่มเดียว คือ นักการเมืองเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญต้องเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีพื้นที่ รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ โดยดำเนินการดังนี้

1.1 เพิ่มประเภทสิทธิและเสรีภาพให้มากขึ้นกว่าเดิม มากกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิทธิและเสรีภาพที่เพิ่มขึ้น ได้แก่
1. การให้สิทธิและเสรีภาพตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยรับรอง มีผลผูกพันเช่นเดียวกับสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 4)
2. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด (มาตรา 35)
3. เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และเสียค่าใช้จ่ายตามควร โดยเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการและทุพพลภาพได้รับการคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม (มาตรา 40) และที่สำคัญคือประชาชนมีสิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเองได้เป็นครั้งแรก (มาตรา 208)
4. สิทธิด้านแรงงานที่ได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวการณ์ทำงาน ได้รับการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรก (มาตรา 44)
5. สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนได้รับการคุ้มครองอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่เพียงแต่ห้ามปิดกิจการสื่อมวลชนเท่านั้นยังห้ามแทรกแซงสื่อมวลชน ในการเสนอข่าวสารและหากมีการดำเนินการดังกล่าวไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ถือเป็นการจงใจ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ (มาตรา 45 และมาตรา 46) รวมทั้งห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนด้วยเพื่อป้องกันการใช้สื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์ของตนเอง (มาตรา 47 วรรคห้า)
6. ประชนชนยังได้รับการศึกษาฟรี 12 ปี โดยเพิ่มให้ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะลำบากต้องได้รับการสนับสนุนให้ได้รับการศึกษา โดยทัดเทียมกับบุคคลอื่นนอกจากนี้การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชนการศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนตลอดชีวิตก็ได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมจากรัฐเช่นกัน (มาตรา 48)
7. เด็ก เยาชน และบุคคลในครอบครัวได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นในการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาตามศักยภาพและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (มาตรา 51)
8. บุคคลที่ไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอ มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ เป็นครั้งแรก (มาตรา 54)
9. ขยายสิทธิชุมชน โดยการเพิ่มสิทธิของชุมชน และชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้ครอบคลุมถึงกรณีการรวมตัวกันของบุคคลขึ้นเป็นชุมชนโดยไม่จำเป็นต้องเป็นการรวมตัวกันมาเป็นเวลานานจนถือว่าเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม(มาตรา 66 วรรคหนึ่ง) นอกจากนี้ การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน (มาตรา 66 วรรคสอง) โดยชุมชนมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิชุมชนไว้ (มาตรา 66 วรรคสาม)
10. ประชาชนมีสิทธิติดตาม และร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าทีของรัฐ เป็นครั้งแรก (มาตรา 61 วรรคหนึ่ง) รวมทั้งมีสิทธิเข้าถึงรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอเข้าสู่การ พิจารณาของรัฐสภา (มาตรา 138 วรรคห้า) นอกเหนือจากสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ (มาตรา 55)
11. ในการทำสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหลายที่มีผลกระทบต่อประชาชน รัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนและเมื่อมีการลงนามแล้ว จะต้องให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของสนธิสัญญารวมทั้งต้องแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการลงนามในสนธิสัญญา อย่างรวดเร็วเหมาะสมและเป็นธรรมด้วย (มาตรา 186 วรรคสองถึงวรรคสี่)
12. ให้สิทธิประชาชน 100,000 คน เข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เป็นครั้งแรก (มาตรา 282 (1))
1.2 ทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพง่ายขึ้นกว่าเดิม โดยมีมาตรการ ดังนี้
1. แบ่งหมวดหมู่ของสิทธิและเสรีภาพให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนอ่านและเข้าถึงรัฐธรรมนูญได้โดยง่ายโดยแบ่งหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยออกเป็นส่วน ๆ ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล (มาตรา 32 38) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม (มาตรา 3940) สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน (มาตรา 5561) สิทธิชุมชน (มาตรา 6566) สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (มาตรา 67 68) ฯลฯ
2. สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองไว้ แม้ยังไม่มีกฎหมายลูกตราขึ้น ประชาชนก็สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นได้ทันที โดยการร้องขอต่อศาล (มาตรา 28 วรรคสาม)
3. กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือประชนชนในการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 28 วรรคสี่)
4. ลดจำนวนประชาชนในการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จาก 50,000 ชื่อ เหลือเพียง 20,000 ชื่อ (มาตรา 160 และมาตรา 262 วรรคสาม)
1.3 ทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพและมีมาตรการคุ้มครองอย่างชัดเจน โดยการบัญญัติให้
1. ตัดคำว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ออกจากท้ายบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพทั้งหลาย เพื่อส่งสัญญาณว่าสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชนเกิดขึ้นทันทีตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่ตามกฎหมาย
2. กำหนดระยะเวลาในการตรากฎหมายลูกที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้ชัดเจน (ส่วนใหญ่ประมาณ 1 ปี) เพื่อมิให้ผู้มีอำนาจถ่วงเวลาในการตรากฎหมายลูกอันเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (มาตรา 293 และมาตรา 298)
3. ให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 208)
4. ให้ชุมชนมีสิทธิฟ้องศาลได้ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของชุมชน (มาตรา 66 วรรคสาม)
5. ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฟ้องศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้ ในกรณีที่กฎหมาย กฎ คำสั่ง หรือการกระทำใดขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นผู้เสียหายแทนประชาชนเพื่อฟ้องศาลได้ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน (มาตรา 248 (1) และ (2))
1.4 ทำให้แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมีความชัดเจน รอบด้านและผูกพันรัฐมากกว่าเดิม โดยการบัญญัติให้
1. มีการแยกแยะหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐให้ครอบคลุมทุกด้านอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง ด้านศาสนา สังคม การศึกษาและวัฒนธรรม ด้านกฎหมายและการยุติธรรม ด้านการต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญาและพลังงานและด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
2. กำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในเรื่องที่สำคัญเพิ่มขึ้น เช่น รัฐต้องพัฒนาระบบงานภาครัฐโดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐให้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ (มาตรา 77 (4)) จัดให้มีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (มาตรา 80 (5),(6)) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (มาตรา 82) ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม (มาตรา 83 (3)) คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร (มาตรา 83 (9)) จัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและต้องระมัดระวังในการกระทำใดอันทำให้สาธารณูปโภคดังกล่าวตกอยู่ในความผูกขาดของเอกชน (มาตรา 83 (11)) กำหนดหลักเกณฑ์ใช้ที่ดินตามหลักวิชาให้ครอบคลุมทั้งผืนดินผืนน้ำทั่วประเทศ ดำเนินการให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึง (มาตรา 84) ฯลฯ
3. กำหนดให้รัฐบาลที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินจ้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด และต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการว่ามีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร เสนอต่อรัฐสภาปีละ 1 ครั้ง
1.5 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานของท้องถิ่นและกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยระดับประเทศ โดยการกำหนดให้
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระอย่างเต็มที่ในการบริหารงานของตนเองในทุกด้าน การจัดทำบริการสาธารณะที่มีความหลากหลาย (มาตรา 274 วรรคหนึ่ง) การจัดโครงสร้างที่คล่องตัว (มาตรา 275 วรรคเก้า)
2. ปฏิรูประบบการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยให้บุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสถานะเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับ ข้าราชการพลเรือนระดับประเทศมีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นของตนเองที่อิสระจากส่วนกลาง โดยให้สามารถโอนย้ายข้าราชการระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รวมทั้งการให้มี คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมระดับท้องถิ่นด้วย (มาตรา 279)
3. เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับท้องถิ่น ให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถลงประชามติในเรื่องที่เกี่ยวกบท้องถิ่นของตนเองได้ (มาตรา 278 วรรคหนึ่งและวรรคสอง) ลดจำนวนประชาชนที่เข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองท้องถิ่นและการเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น (มาตรา 276 และ มาตรา 277) รวมทั้งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องรายงานการดำเนินงานต่อประชาชน ในเรื่องการจัดทำงบประมาณ การใช้จ่าย และผลการดำเนินงานในรอบปี เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกำกับการบริหารจัดการ (มาตรา 278 วรรคสาม)
4. ปรับปรุงระบบการกำกับดูแลองค์กรปกคอรงส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ โดยให้มีมาตรฐานกลางในการดำเนินงาน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติได้เอง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างขอการ พัฒนาและการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการจัดให้มีกลไกการตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยประชาชน (มาตรา 273 วรรคสอง)

2. การลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มุ่งเน้นให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ความเข็มแข็งและมีประสิทธิภาพต้องไม่ใช่การผูกขาดอำนาจแต่เพียงผู้เดียว จนนำไปสู่การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องลดการผูกขาดอำนาจ และสร้างดุลยภาพของอำนาจในทางการเมืองขึ้นโดยมีมาตรการ ดังนี้

2.1 เสริมสร้างอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเป็น “ผู้เล่น” มิใช่ “ผู้ดู” ทางการเมืองอีกต่อไป ซึ่งมีมาตรการมากมายดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้อ 1 เช่น
1. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินงานต่าง ๆ ของภาครัฐ (มาตรา 55, มาตรา 138 วรรคห้าและมาตรา 186 วรรคสอง) การทำสนธิสัญญา (มาตรา 186) การลงประชามติในเรื่องที่สำคัญและมีผลผูกพันการตัดสินใจของรัฐบาล (มาตรา 161) และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (มาตรา 282 วรรคหนึ่ง)
2. ให้ประชาชนและชุมชนมีอำนาจในการฟ้องร้องรัฐที่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรมได้ (มาตรา 208 และมาตรา 66 วรรคสาม)
3. ให้ประชาชนให้สิทธิทางการเมืองได้ง่ายขึ้น เช่น การลดจำนวนประชาชนในการเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองและการเสนอกฎหมายทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น (มาตรา 159 และ มาตรา 160, มาตรา 276 และมาตรา 277)
 2.2 จำกัดการผูกขาดและการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล โดยมีมาตรการ ดังนี้
1. ให้นายกรัฐมนตรีอยู่ได้ไม่เกิน 2 สมัย หรือ 8 ปี (มาตรา 167 วรรคสาม)
2. การตราพระราชกำหนดของรัฐบาลจะต้องถูกตรวจสอบโดยเคร่งครัดจากศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่ตามอำเภอใจของรัฐบาลอีกต่อไป รัฐบาลจะตราพระราชกำหนดได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอัน มิอาจหลีกเลี่ยงได้ มิใช่เป็นกรณีที่รัฐบาลตราพระราชกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐสภา (มาตรา 181)
3. ให้มีหมดการเงิน การคลัง และงบประมาณขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อมิให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีวินัยทางการเงินและงบประมาณ อันจะก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังของประเทศ (มาตรา 162 ถึง มาตรา 166) โดยจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ กิจกรรม แผนงาน และโครงการให้ชัดเจน (มาตรา 163 วรรคหนึ่ง) รายจ่ายงบกลางต้องมีจำนวนจำกัดและต้องแสดงเหตุผล และความจะเป็นด้วย (มาตรา 163 วรรคสอง)
4. ให้รัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการของสภาได้โดยตรงเพื่อมิให้รัฐบาลใช้การจัดสรรงบประมาณเป็น เครื่องมือต่อรองการทำหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้ (มาตรา 164 วรรคเก้า) เช่นเดียวกับการให้องค์กรตมรัฐธรรมนูญสามารเสนอแก้ไขกฎหมายของตนไปยังรัฐสภาได้โดยไม่ถูกรัฐบาลขัดขวาง (มาตรา 138 (3))
5. ให้องค์กรอัยการเป็นอิสระจากรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (มาตรา 246)
6. กำหนดขอบเขตภาระหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการอย่างชัดเจน เพื่อมิให้รัฐบาลรักษาการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายประจำ และใช้กลไกลของรัฐไปสนับสนุนพรรคการเมืองและผู้สมัครฝ่ายตนในการเลือกตั้ง (มาตรา 177)
7. ห้ามควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาในระหว่างอายุของสภา เพื่อป้องกันการเกิดเสียงข้างมากอย่างผิดปกติในสภา (มาตรา 99)
2.3 ให้คนดีมีความสามารถเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นอิสระจากการครอบงำของพรรคการเมือง เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนอย่างเต็มที่ โดยบัญญัติ     
1. ปรับปรุงระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากเขตเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในเขตการเลือกตั้งที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้คนดีมีความสามารถแข่งขันกับคนที่ใช้เงินได้ ปรับปรุงระบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเป็นระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่มีการแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด เพื่อมิให้มีการกระจุกตัวแทนราษฎรแต่ในส่วนกลาง และยกเลิกสัดส่วน 5% เพื่อให้พรรคเล็กมีที่นั่งในสภาเพื่อให้เกิดความหลากหลายในความคิดทางการเมือง
2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการตั้งกระทู้ถามการอภิปราย และการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ (มาตรา 158 วรรคสอง)
3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอร่างกฎหมายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากพรรคการเมืองของตนอีกต่อไป (มาตรา 138(2)
2.4 ให้สมาชิกวุฒิสภาปลอดจากอิทธิพลของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ด้วยการกำหนดให้การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นระบบสรรหาที่มาจากจังหวัดและกลุ่มวิชาชีพ (มาตรา 106) แทนที่ระบบการเลือกตั้งซึ่งถูกแทรกแซงโดยง่ายจากพรรคการเมืองระบบสรรหาจะทำให้การเมืองของประเทศไม่เป็นการเมืองของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นการเมืองของประชาชนที่ความหลากหลายทั้งทางพื้นที่ วิชาชีพและเพศ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมด้วย (มาตรา 108)
2.5 ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแทรกแซงข้าราชการประจำ โดยการกำหนดห้ามก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนและพรรคการเมือง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการงานในหน้าที่ประจำการบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่งหรือเงินเดือน (มาตรา 257)

3.   การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม
ความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง คือ สิ่งที่ขาดหายไปในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นักการเมืองจำนวนมากไม่ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ อาศัยศรีธนญชัยทางการเมืองหลบเลี่ยงกฎหมาย สร้างผลประโยชน์ทับซ้อน ร่ำรวยบนความทุกข์ยากของชาติบ้านเมืองและประชาชน มาตรการที่จะนำประเทศไทยไปสู้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในทางเนื้อหา มิใช่ประชาธิปไตยในทางรูปแบบ จึงได้แก่

3.1 บัญญัติหมวดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ออย่างชัดเจน
1. จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจน โดยมีกลไกลและระบบในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแร้งแห่งการละเมิด (มาตรา 270 วรรคสอง)
2. การฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมที่ร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง (มาตรา 270 วรรคสาม)
3.2 กำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง โดยการบัญญัติ
1. ห้ามมิให้สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น ห้ามมิให้รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ห้ามมิให้รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติกับบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานตามปกติ รวมทั้งห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว (มาตรา 256)
2. นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และ ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นใน ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีผู้นั้นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว (มาตรา 260)
3.3 การแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความเข้มข้นขึ้น คือ นอกจากจะต้องแสดงของตน ของคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแล้ว ยังขยายไปถึงทรัพย์สินทีอยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมด้วย (มาตรา 250) นอกจากนี้การแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจะต้องเปิดเผยให้แก้สาธารณชน เช่นเดียวกับของรัฐมนตรี (มาตรา 252)
3.4 ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาได้ง่ายขึ้น
1. กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษก็พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาณหรือความผิดลหุโทษ (มาตรา 119(4))
2. กรณีนายกรัฐมนตรีปละรัฐมนตรี เมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษก็ตามก็พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาณหรือความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท (มาตรา 178(4))
3.5 ห้ามประธานสภา รองประธานสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีดำเนินการในลักษณะที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
1. กรณีประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในระหว่างการดำรงตำแหน่งจะเป็นการกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ในขณะเดียวกันมิได้ (มาตรา 119 วรรคเก้า)
2. กรณีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ห้ามิให้ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่มี หรือการมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น (มาตรา 173 วรรคสาม)

4.   การทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์กรตรวจสอบและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นความหวังของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถูกแทรกแซงและล้มเหลวในการทำงาน การปรับปรุงระบบตรวจสอบทั้งระบบจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น

4.1 ปรับปรุงระบบการสรรหาองค์กรตรวจสอบ เพื่อให้ได้คนที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยการกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นคณะบุคคลสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
4.2 ปรับปรุงอำนาจหน้าที่และระบบกรทำงานองค์กรตรวจสอบให้ดียิ่งขึ้น
1. ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับฟังเรื่องที่ประชาชนถูกละมิดสิทธิและเสรีภาพได้โดยตรง (มาตรา 208)
2. ให้ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ พิจารณาคดีที่มีการฟ้องว่านักการเมืองไม่แสดงทรัพย์สินหรือหนี้สิน หรือแสดงทรัพย์สินหรือหนี้สินเป็นเท็จด้วย (มาตรา 254 วรรคสอง)
3. ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดูแลเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูงเท่านั้น เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีสิทธิภาพเพิ่มขึ้น (มาตรา 243 (3))
4. ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสามารถยกเรื่องที่เกิดความเสียหายต่อประชาชนโดยส่วนรวม หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะขึ้นได้เอง โดยไม่จำต้องมีการร้องเรียนได้ (มาตรา 237 (1) วรรคสอง)
5. เพิ่มอำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติโดยให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห้งชาติฟ้องศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้ ในกรณีที่กฎหมาย กฎคำสั่ง หรือการกระทำใดขัดต่อรัฐธรรมฯญ และเป็นผู้เสียหายแทนประชาชนเพื่อฟ้องศาลได้ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน (มาตรา 248 (2) และ (3))
6. ให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอาจเพิ่มขึ้นในการให้ความเห็น เกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมด้วย (มาตรา 249)
7. ให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และศาล สามารถแปรญัตติงบประมาณได้โดยตรงกับกรรมาธิการของสภา (มาตรา 164 วรรคเก้า)
8. ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียงเพียง 1/4 (มาตรา 154 วรรคหนึ่ง) นอกจากนี้ยังกำหนดให้สารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่หลบการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอื่นได้ (มาตรา 155 วรรคสองและวรรคสาม) เช่นเดียวกับการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องมาตอบกระทู้ถามและชี้แจงกับสภาด้วยตนเอง (มาตรา 158)
9. แยกองค์กรอัยการออกมาเป็นอิสระจากรัฐบาลเพื่อให้องค์กรอัยการทำงานได้อย่างอิสระในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล (มาตรา 246)
4.3 จัดให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
1. การให้ใบเหลือง ใบแดง ของคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ส่วนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น สามารถอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ศาลอุทธรณ์ได้ (มาตรา 233)
2. กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอันเนื่องมาจากการใช้ อำนาจตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง สามารถถูกตรวจสอบโดยศาลปกครองได้ (มาตรา 218 วรรคหนึ่ง)
3. ผู้ตรวจแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ของด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรในระบวนการยุติธรรม (มาตรา 237 (1) (ค))

*****************************************************************************************************************

ส่วนที่ 4
การมีส่วนร่วมกับการปกครองส่วนท้องถิ่น

ความหมาย

ความหมายของการปกครองท้องถิ่น  คือ  การที่รัฐมอบอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดำเนินกิจการบางอย่าง  โดยดำเนินการกันเองเพื่อบำบัดความต้องการของตน  การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การหรือองค์กร  มีโครงสร้างเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมดหรือบางส่วน  ทั้งนี้ต้องมีความเป็นอิสระในการบริหารงาน  แต่จะต้องอยู่ในความควบคุมของรัฐบาล  ด้วยวิธีการต่างๆตามความเหมาะสม  จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่  เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทำให้เกิดขึ้น (อุทัย  หิรัญโต, 2523, หน้า 29)
          ซึ่งความหมายของการปกครองท้องถิ่นจะมีนักวิชาการกล่าวถึงมากมาย  ก็จะกล่าวถึงการเมืองการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยไว้เป็นพื้นฐาน  ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยทุกฉบับที่ตราขึ้นมาใช้  ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุด  เป็นกฎหมายแม่ที่บัญญัติขึ้นมาเป็นกรอบใช้ในการปกครองประเทศ  ตั้งแต่ประเทศไทยประกาศเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดที่ปวงชนชาวไทยให้การเคารพรักยกย่องเชิดชู
          ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปี พ.ศ. 2550 ให้ความสำคัญกับการปกครองท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดว่า รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั้งประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
          นี่คือกรอบกฎหมายกำหนดให้รัฐจะต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น  ตามความหมายของการปกครองท้องถิ่นที่กล่าวถึงในเชิงทฤษฎีข้างต้น

การปกครองส่วนท้องถิ่น  คือ  การกระจายอำนาจการปกครองจากรัฐบาลกลางมาให้
ประชาชนในท้องถิ่นปกครองกันเอง  ภายใต้แนวความคิดหลัก  6  ประการ (องค์การบริหารส่วนจังจังหวัดนครราชสีมา, 2551) คือ

1.      การปกครองท้องถิ่น  คือ  รากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย  เพราะการปกครองท้องถิ่นจะเป็นสถาบันฝึกสอนการเมืองการปกครองให้แก่ประชาชน  ให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าตนมีความเกี่ยวพันกับส่วนได้ส่วนเสียในการปกครอง  การบริหารท้องถิ่น  เกิดความรับผิดชอบและหวงแหนต่อประโยชน์อันพึงมีต่อท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัย  อันนำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด (ชูศักดิ์  เที่ยงตรง , 2518, หน้า 6-7)  โดยประชาชนจะมีโอกาสเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร  การเลือกตั้งจะเป็นการฝึกฝนให้ประชาชนใช้ดุลยพินิจเลือกผู้แทนที่เหมาะสม  สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารกิจการของท้องถิ่น  นับได้ว่าเป็นผู้นำท้องถิ่นจะได้ใช้ความรู้ความสามารถบริหารงานท้องถิ่น  เกิดความคุ้นเคยมีความชำนิชำนาญในการใช้สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชาติต่อไป

2.      การปกครองท้องถิ่นทำให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักการปกครองตนเอง (Self Government)  หัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย  ประการหนึ่งก็คือ  การปกครองตนเองมิใช่เป็นการปกครองอันเกิดจากคำสั่งเบื้องบน  การปกครองตนเอง คือ  การที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง  ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นนอกจากจะได้รับเลือกตั้งมาเพื่อรับผิดชอบบริหารท้องถิ่นโดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนแล้ว  ผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องฟังเสียงประชาชนด้วยวิถีทางประชาธิปไตยต่างๆ  เช่น  เปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติ (Referendum)  ให้ประชาชนมีอำนาจถอดถอน (Recall)  ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความสำนึกในความสำคัญของตนต่อท้องถิ่น  ประชาชนจะมีส่วนรับรู้ถึงอุปสรรคปัญหาและช่วยกันแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นของตน

3.      การปกครองท้องถิ่นเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล  เนื่องจากความจำเป็นบางประการ ดังนี้ 
3.1.1.      ภารกิจของรัฐบาลมีอยู่อย่างกว้างขวาง  นับวันจะขยายเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะเห็นได้จากงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีตามความเจริญเติบโตของบ้านเมือง
3.1.2.      รัฐบาลมิอาจจะดำเนินการในการสนองความต้องการของประชาชนใน
ท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง  เพราะแต่ละท้องถิ่นย่อมมีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันการแก้ปัญหาหรือการจัดบริหารโครงการในท้องถิ่นโดยรูปแบบที่เหมือนกันย่อมไม่บังเกิดผลสูงสุด ท้องถิ่นย่อมรู้ปัญหาและเข้าใจปัญหาได้ดีกว่าผู้ซึ่งไม่อยู่ในท้องถิ่นนั้น  ประชาชนในท้องถิ่นจึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นมากที่สุด
3.1.3.      กิจการบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะท้องถิ่นนั้น  ไม่เกี่ยวพันกับท้องถิ่นอื่นและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อประเทศโดยส่วนรวม จึงเป็นการสมควรที่จะให้ประชาชนในท้องถิ่นดำเนินการดังกล่าวเอง
หากไม่มีหน่วยการปกครองท้องถิ่นแล้ว  รัฐบาลจะต้องรับภาระดำเนินการทุกอย่าง  และไม่แน่ว่าจะสนองความต้องการของท้องถิ่นถูกจุดหรือไม่ การแบ่งเบาภาระทำให้รัฐบาลมีเวลาที่จะดำเนินการในเรื่องที่สำคัญหรือกิจการใหญ่ๆ ระดับชาติอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม  เช่น  การต่างประเทศ  การค้าขายกับต่างประเทศ  การทหาร  ความมั่นคง

3.4  การปกครองท้องถิ่นสามารถสนองความต้องการของท้องถิ่นตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ที่ให้บริการหรือแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนเป็นอย่างดี  การบริหารงานจึงจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  ไม่ต้องเสียเวลาเสนอเรื่องขออนุมัติไปยังส่วนเหนือขึ้นไป  ท้องถิ่นจะบริหารงานให้เสร็จสิ้นลงภายในท้องถิ่นนั่นเอง  ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

3.5.  การปกครองท้องถิ่นจะเป็นแหล่งสร้างผู้นำทางการเมืองการบริหารของประเทศในอนาคต  ผู้นำหน่วยการปกครองท้องถิ่นย่อมเรียนรู้ประสบการณ์ทางการเมือง  การได้รับเลือกตั้ง  การสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่นย่อมเป็นพื้นฐานที่ดีต่ออนาคตทางการเมืองของตน  และยังฝึกฝนทักษะทางการบริหารงานในท้องถิ่น  จากการเป็นนายกเทศมนตรี  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  จนสามารถประสบความสำเร็จเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในระดับชาติ

3.6.  การปกครองท้องถิ่นโดยยึดหลักการกระจายอำนาจ  ทำให้เกิดการพัฒนาชนบทแบบพึ่งตนเองทั้งทางการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคม  งานพัฒนาชนบทที่ผ่านมายังมีอุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง  คือ  การมีส่วนร่วมจากประชาชนในท้องถิ่นอย่างเต็มที่  การพัฒนาชนบทที่สัมฤทธิ์ผลนั้นจะต้องมาจากการริเริ่มช่วยตนเองของท้องถิ่น
ความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นนั้น  หากจะมองรวมเป็นจุดใหญ่ๆแล้ว  สามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้าน  คือ 
     1. ด้านการเมืองการปกครองและการบริหาร กล่าวคือด้านการเมืองการปกครองนั้นเป็นการปูพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการเรียนรู้การปกครองตนเอง 
     2. ด้านการบริหารนั้นเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและประชาชนในท้องถิ่นได้หาทางตอบสนอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง ด้วยกลไกทางการบริหารต่างๆ ทั้งในแง่ของการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการจัดการ

กรอบแนวคิดการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

ในบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดกรอบความคิดการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างต้นแล้วจะเห็นว่าเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้บัญญัติไว้ในหมวด 9 รวม 9 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 283 ถึงมาตรา 290 
สรุปได้ว่า  รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น  โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายย่อมมีอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครอง  การบริหาร  การบริหารงานบุคคล  การเงินและงานคลัง  และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ  โดยรัฐบาลเป็นผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่จำเป็น  ภายใต้กรอบของกฎหมายและเพื่อกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ภายใต้มาตรา 284  จึงได้ตราพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ขึ้นรองรับเป็นหลักประกันเพื่อการปฏิบัติให้บังเกิดผลขึ้นอย่างแท้จริง  ซึ่งมีสาระสำคัญในการกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะระหว่างรัฐบาลกลางกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง  การจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยคำนึงถึงภาระหน้าที่ของรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง  ภารกิจดังกล่าวนี้ จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ทำหน้าที่กำหนดแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนปฏิบัติการ  โดยกำหนดกรอบวิสัยทัศน์ของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็น 2 ระยะคือ

1.      ระยะแรก  (พ.ศ.2544-2547)  ในช่วง 4 ปีแรกของการโอนภารกิจ  เป็นช่วงของการปรับปรุงระบบการบริหารงานภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ราชการส่วนกลาง  และราชการส่วนภูมิภาค  รวมทั้งการพัฒนายุทธศาสตร์  การสร้างความพร้อมในการรองรับการถ่ายโอนภารกิจ  บุคลากร  งบประมาณและทรัพย์สิน  รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ในส่วนของภารกิจของการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์และการดำเนินงานร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

2.      ระยะที่สอง (พ.ศ.2548-2554)  เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน  มีการปรับบทบาทของราชการส่วนกลาง  ราชการส่วนภูมิภาค  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และภาคประชาชนที่เรียนรู้ร่วมกันในการถ่ายโอนภารกิจ  มีการปรับกลไกความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับราชการส่วนภูมิภาคอย่างกลมกลืน  รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินกิจการสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ดีขึ้น  ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส

หลังจากปีที่ 10 ผ่านพ้นไป (พ.ศ.2554 เป็นต้นไป)  ประชาชนในท้องถิ่นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  ประชาชนจะมีบทบาทในการตัดสินใจร่วมสอดส่องดูแลและตรวจสอบ  ตลอดจนให้การสนับสนุนในกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่  เช่น  ขณะนี้ระบบการศึกษา  จะถ่ายโอนมาให้ท้องถิ่น  ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของลูกหลาน  การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน  การดูแลคุณภาพชีวิตของบุตรหลาน  การสาธารณสุข  อนามัยชุมชน  เป็นต้น  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการพัฒนาศักยภาพทางด้านการบริหารจัดการและการคลังท้องถิ่นที่พึ่งตนเองและมีอิสระมากขึ้น  ผู้บริหารและสภาท้องถิ่นจะเป็นผู้มีความรู้  ความสามารถและมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร  ราชการส่วนภูมิภาคจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้จัดทำบริการสาธารณะมาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ  และกำกับดูแลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่จำเป็นภายใต้ขอบเขตที่ขัดเจน  การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง  จึงยึดหลักการและสาระสำคัญของการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ด้าน คือ


1.      ด้านความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ย่อมมีอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครอง  การบริหารจัดการ  การบริหารงานบุคคล  และการเงินการคลังของตนเอง  โดยยังคงรักษาความเป็นรัฐเดี่ยวและความมีเอกภาพของประเทศ  การมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและความมั่นคงของชาติเอาไว้ได้  ตลอดจนการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

2.   ด้านการบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
              รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของตนเองได้มากขึ้น  โดยปรับบทบาทและภารกิจของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค  พร้อมเพิ่มบทบาทให้ส่วนท้องถิ่นเข้าดำเนินการแทน  เพื่อให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาครับผิดชอบในภารกิจมหภาค  และภารกิจที่เกินขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการได้  โดยกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านนโยบายและด้านกฎหมายเท่าที่จำเป็น  ให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านเทคนิควิชาการและตรวจสอบติดตามประเมินผล

3.   ด้านประสิทธิภาพการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ดีขึ้นหรือไม่ต่ำกว่าเดิม  มีคุณภาพมาตรฐาน  การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความโปร่งใส  มีประสิทธิภาพ  และรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริหารให้มากขึ้น  รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนภาคประชาสังคมและชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  รวมดำเนินงานและติดตามตรวจสอบ

รูปแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  กำหนดไว้  5  รูปแบบในปัจจุบัน  คือ
1.      องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
2.      เทศบาล
3.      องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
4.      กรุงเทพมหานคร
5.      เมืองพัทยา


*****************************************************************************************************************

บรรณานุกรม

โกวิท พวงงาม, การปกครองท้องถิ่นไทย, กรุงเทพมหานคร, 2550.
จิรโชค วีระสัย และคณะ, รัฐศาสตร์ทั่วไป. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2545.
ณัฐชนน สภานุรัตน์, เอกสารประกอบการสอน รายวิชาการเมืองไทย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต, 2549.
พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2550
วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และ สุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2545.
สิทธิพันธ์ พุทธหุน, ทฤษฎีการเมืองและจริยธรรม 3. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2545.
______, สังคมวิทยาการเมืองกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์รามคำแหง, 2542.
สุขุม นวลสกุล, ทฤษฎีการเมืองสมัยโบราณและสมัยกลาง. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544.
IAP2, Core Values of Public Participation, Available : http//:www.IAP2.org, 2551.
IAP2, Spectrum of Public Participation, Available : http//:www.IAP2.org, 2551.
องค์การบริหารส่วนจังจังหวัดนครราชสีมา, Available http://www.koratpao.go.th/elect_sj/
policy.doc. 2551.
อุทัย  หิรัญโต, การปกครองท้องถิ่น, กรุงเทพ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2523.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น