Pol Sci

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สหรัฐฯ-ไทย ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ยาวนานที่สุดในเอเชีย เร่งเสริมสร้างความเจริญมั่งคั่งและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้

นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยที่ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ เยือนภายหลังการเลือกตั้ง โดยมีการกำหนดทิศทางสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันและเพิ่มพูนความร่วมมือระดับภูมิภาคในอนาคต




วันนี้ เวลา 17.45 น. นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัว ณ โรงพยาบาลศิริราช  โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้รอให้การต้อนรับ ณ บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนนำเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดให้มีการตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า  จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เชิญ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ไปยังห้องสีงาช้างเพื่อลงนามในสมุดเยี่ยม ก่อนการหารือทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและนายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้างด้านใน
จากนั้นในเวลา 19.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้แถลงข่าวร่วมกับ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา สรุปดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับประธานาธิบดีโอบามาและคณะ ซึ่งเลือกที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรก ภายหลังการได้การเลือกตั้งอีกหนึ่งสมัย ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นส่งสัญญานที่มีความหมาย
การมาเยือนของประธานาธิบดีโอบามา นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมยิ่ง สำหรับการเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 180 ปี ไทย-สหรัฐ ในปีหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอขอบคุณประธานาธิบดีโอบามา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคลินตัน ที่ได้มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทยและสหรัฐ รวมถึงบทบาทของสหรัฐในการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในเอเชีย
โดยในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสร่วมเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ อันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในระดับสูงของสองประเทศ
ในการหารือทวิภาคี ไทยและสหรัฐฯ ได้มีการหารือที่มีผลเป็นรูปธรรมและครอบคลุมกว้างขวางในบรรยากาศที่เป็นมิตรและหุ้นส่วน  และประเทศไทยเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาที่มีมายาวนานที่สุดของสหรัฐฯในเอเชีย ทั้งนี้ เนื่องจาก เรามีค่านิยมร่วมกันด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และระบบตลาดเสรี
นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯถึงความมุ่งมั่นต่อประชาชนในการคงไว้และปกป้องระบอบประชาธิปไตย และซาบซึ้งต่อการสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ผู้นำทั้งสอง ไม่เพียงแต่ชื่นชมความสำเร็จในอดีต แต่ได้เห็นพ้องกันว่า ทั้งสองประเทศจะมองไปในอนาคตข้างหน้า เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้แข็งแกร่งกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ รวมถึงขยายไปในระดับภูมิภาค อาเซียน และเอเชียแปซิฟิก
ด้านเศรษฐกิจ เห็นพ้องที่จะร่วมกันสร้างการเติบโตและสร้างงานระหว่างไทยและอเมริกา ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯและนายกรัฐมนตรีตกลงกันที่จะเร่งส่งเสริมการค้าการลงทุนและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนให้ได้อีกเท่าตัว
นอกจากนี้ สหรัฐฯ เห็นพ้องว่าไทยเป็นจุดศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์และเป็นประตูสู่ความเชื่อมโยงในอาเซียนและในการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ซึ่งไทย-สหรัฐฯจะร่วมกันทำให้ภูมิภาคนี้เป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจโลกอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
โดยนายกรัฐมนตรีได้แจ้งถึงของประสงค์ของไทยที่จะริเริ่มการเจรจา Trans Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งผ่านการเห็นชอบตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะสำเร็จได้
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯและนายกรัฐมนตรียังได้หารือเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาค ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความสนับสนุนต่อการเยือนเมียนมาร์และกัมพูชาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อันแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ และเชื่อมั่นว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างไทย-สหรัฐฯ จะช่วยสร้างสันติภาพ ความมั่นคงและรุ่งเรือง ของภูมิภาคนี้โดยรวม
แม้ว่าความร่วมมือของสองประเทศ ขยายไปนอกเหนือจากในภูมิภาคแล้วก็ตาม ในระดับโลก ประเทศไทยได้ตระหนักภัยคุกคามจากการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯว่าจะเข้าร่วมความริเริ่มด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Proliferation Security Initiative หรือ PSI)  ซึ่งผู้นำทั้งสองเชื่อมั่นว่า จะช่วยป้องกันมิให้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไปตกในมือของผู้ไม่ประสงค์ดี และส่งผลต่อความมั่นคงโดยรวม
ประธานาธิบดีสหรัฐฯและนายกรัฐมนตรี ยังได้หารือเพื่อรับมือกับปัญหาอาชญกรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งไทยได้ยืนยันถึงจุดยืนในการ ปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเทียบเท่ากับ ระบบทาสในโลกสมัยใหม่ นอกจากนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อต่อสู่กับการก่อการร้าย และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะด้านการบรรเทาภัยพิบัติ
สุดท้ายนี้  ผู้นำทั้งสองได้ย้ำถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนระดับสูง การแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างสองประเทศ ในฐานะพันธมิตร ประธานาธิบดีสหรัฐและนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องที่จะให้มีการติดต่อและประสานงานระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้วาระที่มีการหารือกันในวันนี้ไปสู่ผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป
ที่มา: วิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
http://www.thaigov.go.th/th/2012-07-18-11-42-15/item/73280

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น