Pol Sci

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เปลี่ยนประเทศไทย ด้วยการรับจำนำข้าว


เพราะรัฐบาลกำลังทำอะไรที่มีความสำคัญสุดยอดในการเปลี่ยนประเทศไทย หนทางย่อมไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา

ผมไม่มีความเห็นอะไรเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงของรัฐบาลมานาน เพราะยอมรับว่ายังไม่สู้เข้าใจผลกระทบถ่องแท้นัก จึงได้สดับตรับฟังและตามอ่านความเห็นของคนอื่นตลอดมา

บัดนี้ ผมคิดว่าผมพอจะบรรลุความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว

ผู้ที่คัดค้านเห็นว่าโครงการนี้มีปัญหามาก และปัญหาเหล่านั้นก็เริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว ผมขอแบ่งปัญหาที่กล่าวถึงออกเป็นสองอย่าง คือปัญหาเชิงหลักการกับปัญหาเชิงปฏิบัติ

ในด้านหลักการ ราคาที่รับจำนำนั้นเห็นว่าสูงเกินความเป็นจริง หรือเกินขีดความสามารถของรัฐบาลไทย (ทุกชุด) จะจัดการได้ เริ่มตั้งแต่ไม่มีทางระบายข้าวออกไปได้ เพราะราคาที่รับซื้อสูงเกินราคาตลาดโลกมาก นอกจากยอมระบายออกในราคาที่ขาดทุน เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ยิ่งกว่านี้บางคนยังบอกว่า มีส่วนดึงราคาข้าวภายในประเทศให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งจะทำความเดือดร้อนแก่คนชั้นกลางระดับล่างในเขตเมือง แต่จนถึงทุกวันนี้ ผลกระทบด้านนี้ยังไม่ปรากฏให้เห็น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นนั้นมีส่วนจากราคาข้าวน้อยมาก

ผลกระทบต่อไปก็คือ ชาวนาย่อมจะลงทุนปลูกข้าวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนข้าวที่ไหลเข้าสู่โครงการเพิ่มขึ้นด้วย การขยายการปลูกข้าวเพราะแรงกระตุ้นของโครงการ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น ราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ตลอดจนราคาเช่าที่ดิน ค่าขนส่ง, แรงงาน ฯลฯ บางส่วนของต้นทุนการผลิตก็มีราคาสูงขึ้นจริงในฤดูการผลิตใหม่นี้ เช่น ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง และค่าเช่าที่ดิน เป็นต้น แต่ก็น่าจะเป็นการขึ้นราคาชั่วคราว ในช่วงที่อุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลกันเท่านั้น

ดังนั้น ผู้คัดค้านโครงการจึงเสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลน่าจะทำในการช่วยชาวนามากกว่า คือการพัฒนาการเกษตรในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่รับจำนำผลผลิตด้วยราคาสูง เช่น ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ เป็นต้น

ปัญหาในด้านเชิงปฏิบัติ ผู้คัดค้านเห็นว่าโครงการนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือชาวนากลางขึ้นไป กับโรงสี ส่วนชาวนาเล็กที่ "ยากจน" (คำนี้มีปัญหาในตัวของมันเองมากนะครับ) เงินไม่ตกถึงมือ เท่าที่ผมทราบ ความเห็นนี้ไม่ได้มาจากการวิจัย แต่เป็นการประมาณเท่านั้น เพราะในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับในตัวเลขว่าทั้งมอเตอร์ไซค์, รถปิกอัพ และวัสดุก่อสร้างขายดีขึ้นในเขตชนบท ซึ่งตลาดของชาวนากลางอย่างเดียวไม่เพียงพอจะอธิบายได้ อีกทั้งความกระตือรือร้นของชาวนาที่จะขยายการเพาะปลูก ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ชาวนาจำนวนมาก (ทั้งกลางและเล็ก) ตอบสนองต่อโครงการด้วยความยินดี

ในส่วนโรงสีได้กำไรนั้น ผมยังมองไม่เห็นว่าจะได้อย่างไร นอกจากยอมรับซื้อข้าวในราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ไม่พูดถึงการทุจริตเช่นสวมสิทธิจำนำข้าวและอื่นๆ นะครับ ที่พอจะมองเห็นกำไรแน่ๆ ก็คือรับสีข้าวที่รัฐบาลรับจำนำไว้ตันละ 500 บาท ซึ่งก็ไม่ใช่ราคาที่สูงกว่าปกติ แต่มีข้อได้เปรียบคือมีข้าวป้อนให้สีได้มั่นคงขึ้น โดยตัวเองไม่ต้องเสี่ยงทางธุรกิจคือรับซื้อเท่านั้น

อีกข้อหนึ่งที่พูดกันมากคือการทุจริตทั้งของชาวนาเอง (ขายส่วนต่างของสิทธิการจำนำข้าว), นายทุนผู้รับซื้อส่วนต่างนี้, ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทั้งขององค์กรของรัฐและบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ เรื่องนี้จริงแน่นอนโดยไม่ต้องทำวิจัยเลยก็ได้ โครงการใช้เงินเป็นแสนล้านโดยไม่มีการโกงเลย จะเกิดขึ้นได้ที่ไหนในโลกล่ะครับ แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ โกงมากกว่าโครงการจำนำข้าวที่ผ่านมาหรือโครงการประกันราคามากน้อยแค่ไหน และโกงได้อย่างไรหรือมีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง และควรอุดอย่างไร น่าเสียดายที่ไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการคัดค้าน

ยังมีเสียงคัดค้านเชิงอุดมการณ์จากจุดยืนจารีตนิยม ที่รังเกียจรัฐสวัสดิการทุกรูปแบบ เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนขี้เกียจไม่รับผิดชอบและไม่ทำหน้าที่ของตนเอง คอยแต่จะแบมือรับความช่วยเหลือจากรัฐตลอดไป ข้อนี้ผมจะไม่พูดถึงล่ะครับ เพราะน่าสงสารเกินไป

แม้เสียงคัดค้านเหล่านี้มีส่วนจริงหรือมีส่วนเป็นไปได้บางเรื่อง แต่เป็นการมองโครงการในแง่ความเป็นไปได้ทางการตลาดเท่านั้น ผมคิดว่ารัฐบาลต้องชัด (กว่านี้) ว่าโครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงคือการปฏิรูปสังคม ไม่ใช่โครงการรับจำนำข้าวอย่างที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพียงช่วยพยุงราคาข้าวของชาวนาให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกมากขึ้น และต้องไม่ขาดทุน

ตรงกันข้ามเลยครับ รัฐบาลตั้งใจจะขาดทุนมาแต่ต้น และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องวางแผนการระบายข้าวให้ดีโดยไม่ต้องนั่งรอราคาสูงสุดอย่างเดียว แต่จะระบายไปตามจังหวะเพื่อรักษาตลาดข้าวของไทยด้วยและเพื่อให้การระบายข้าวทั้งหมดที่รับจำนำมานั้นขาดทุนน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็ลงทุนเพิ่มมูลค่า เช่น การแพคเกจจิ้ง ไปจนถึงผ่านกระบวนการรักษาคุณภาพให้คงทน เป็นต้น เท่ากับโครงการรับจำนำช่วยเปิดตลาดข้าวระดับสูงไปพร้อมกัน (แน่นอนโดยร่วมมือกับผู้ส่งออกเอกชน)

จะขาดทุนบักโกรกแค่ไหน ผมไม่ทราบ แต่มีนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งประมาณว่าไม่น่าจะเกิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งยังน้อยกว่าเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายออกไปในการประกันราคา (ซึ่งรั่วไหลมากกว่าเสียอีก)... แต่ตัวเลขนี้จะเชื่อได้แค่ไหนผมไม่ทราบ

สมมุติว่านักเศรษฐศาสตร์ประเมินต่ำไป 100% ก็ขาดทุนแค่ 100,000 ล้านบาท เงิน 100,000 ล้านจากงบประมาณแผ่นดินหลายล้านล้านบาท เพื่อช่วยชาวนาซึ่งมีจำนวนประมาณ 40% ของประเทศ จะเป็นไรไปเล่าครับ ปัญหามาอยู่ที่ว่าช่วยแล้วได้ผลอะไรและอย่างไรต่างหาก เช่น หากชาวนามั่นใจว่ารายได้ของตนจะสูงขึ้น เขาเอาไปลงทุนในอะไรอีกบ้างที่จะให้ผลดีแก่เขาในระยะยาว

ส่วนการที่จำนวนหนึ่งนำไปซื้อมอเตอร์ไซค์และปิกอัพหรือต่อเติมบ้านเรือนนั้น อย่าได้คิดว่าเขาเอาเงินที่ได้มาไปใช้ในทางฟุ่มเฟือยเป็นอันขาด เพราะทั้งสามอย่างนี้เป็นการลงทุนทางธุรกิจไปพร้อมกับการเลื่อนสถานภาพทางสังคม

เรื่องนี้ต้องเข้าใจชีวิตของชาวนาไทยให้ดี

"ชาวนา" ที่ทำนาขนาดเล็กด้วยกำลังครอบ ครัวของตนเพื่อยังชีพนั้น ปัจจุบันแทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว ส่วนใหญ่ของรายได้ของครอบครัวชาวนามาจากงานนอกภาคการเกษตร และเป็นเช่นนี้มาหลายสิบปีแล้วด้วย ฉะนั้นรายได้ของครอบครัวชาวนาจึงสูงขึ้น แต่ไม่ใช่จากการทำนาหากมาจากการรับจ้างหลากหลายประเภท แม้กระนั้นการทำนาก็ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญแก่คนอีกมาก ในขณะที่หลุดออกไปจากภาคเกษตรโดยสิ้นเชิงก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าถือเส้นความยากจนตามที่สำนักงานสถิติใช้ในการหาข้อมูล ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน

การที่ชาวนาหลุดออกไปเป็นแรงงานประเภทต่างๆ นั้น เป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในการพัฒนาของทุกประเทศ แต่ไทยมีปัญหาเฉพาะก็คือ อัตราการเปลี่ยนอาชีพของชาวนาไทยเกิดขึ้นช้ามาก จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีคนที่ทำนา (หรือเกษตรอย่างอื่น) ตกค้างอยู่ถึงเกือบ 40% ของประชากร แม้ว่ารายได้ส่วนใหญ่ของเขาไม่ได้มาจากภาคเกษตรก็ตาม

รถปิกอัพ, บ้านเรือน และมอเตอร์ไซค์ มีส่วนในการทำให้รายได้นอกภาคเกษตรของเขาเพิ่มขึ้น (เช่น มีมอเตอร์ไซค์ก็ทำให้หางานจ้างได้กว้างขึ้นกว่าจักรยานหรือเดินเท้า) การไปซื้อสินค้าเหล่านี้เมื่อมั่นใจว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต จึงเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง

เป็นไปได้หรือไม่ว่า หากเขามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาวแล้ว ชาวนาจะหันไปทำอาชีพอื่นๆ มากกว่าทำนา เพราะราคาจำนำ 15,000 บาทต่อข้าวหนึ่งตันนั้น ใช่ว่าจะทำให้รายได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก หากเปรียบกับการมีงานจ้างประจำทั้งปี หรือมีโอกาสค้าขายอย่างเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น โครงการรับจำนำข้าวจึงอาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะทำให้ชาวนาจำนวนหนึ่งหันไปสู่อาชีพอื่น ในขณะที่ผู้ยังอยู่ในอาชีพทำนา ก็จะมีโอกาสพัฒนาผลิตภาพของตนเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น

ในกระบวนการนี้ เขาจะลงทุนกับการศึกษาของลูกหลานเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ หลังจากจบ ม.3 ซึ่งทำให้หางานโรงงานทำได้นั้น เขาจะส่งลูกหลานเรียนต่อไปหรือไม่ อันนี้ผมเดาไม่ถูก แต่ก็เชื่อว่าอย่างน้อยจำนวนหนึ่งก็น่าจะลงทุนด้านการศึกษาต่อไป เพราะไม่มีแรงบีบให้ต้องเอาลูกออกไปทำงานโรงงาน และถ้าเป็นอย่างนั้นในจำนวนคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนาในเวลานี้ ย่อมหมายความว่า โครงการรับจำนำนี้ช่วยเปิดช่องทางที่ชาวนาจะได้รับผลพวงของการพัฒนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น

อันที่จริง การที่รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว ทุ่มงบประมาณลงไปสนับสนุน หรือออกกฎหมายปกป้องคนในอาชีพเกษตรนั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ในสหรัฐ, ยุโรป, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ใช่ชาวนาไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร กลับสนับสนุนนโยบายเช่นนี้ด้วยซ้ำ เหตุใดนโยบายทำนองเดียวกันจึงถูกคนชั้นกลางและชนชั้นนำไทยคัดค้านอย่างหนัก

ส่วนหนึ่งของคำตอบก็คือ ในประเทศพัฒนาแล้ว ชาวนาหรือเกษตรกรมีจำนวนน้อยมาก เฉลี่ยประมาณ 4-8% ของประชากร คนทั่วไปจึงไม่รู้สึกถึงผลกระทบของนโยบาย แต่คนถึง 40% ที่คอยความช่วยเหลือในเมืองไทย มีจำนวนมากกว่ากันมาก ความช่วยเหลือใดๆ ที่จะบังเกิดผลแก่เขาจริง ต้องมีสัดส่วนพอสมควรในทรัพย์สาธารณะเป็นธรรมดา คนไทยชั้นกลางขึ้นไปจึงอ่อนไหวต่อการช่วยชาวนามากเป็นพิเศษ มองนโยบายเหล่านี้ด้วยความระแวง

แต่เหตุผลที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการเมือง

ส่วนหนึ่งของชนชั้นนำไทยต้องการเก็บชาวนาไว้ภายใต้อุปถัมภ์ของตนตลอดไป แยกชาวนาออกเป็นปัจเจกบุคคลตัวเล็กๆ ภายใต้การนำของ "ปราชญ์ชาวบ้าน" ที่สยบยอมต่อระบบ ส่วนที่เหลือมองไม่เห็นประโยชน์ของชาวนามากกว่าแรงงานราคาถูก เพราะถึงอย่างไรสินค้าที่พวกเขาผลิตก็มุ่งไปที่ตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว

ในทางตรงกันข้าม ชาวนาไทยไม่มีประสบการณ์ในการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองทางการเมืองมากนัก (เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรในประเทศพัฒนาแล้วทั่วไป) อันที่จริงชาวนาไทยถูก "ปราบปราม" อย่างเหี้ยมโหดและเด็ดขาดเสียยิ่งกว่าความเคลื่อนไหวของกรรมกรเสียอีก หากเขาพยายามรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ของเขาในนโยบายสาธารณะ

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาล ย่อมมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้แก่ชาวนาด้วย หากทำต่อเนื่องไปอีกสักสองสามปี จะไม่มีรัฐบาลใดกล้าเลิกโครงการนี้เป็นอันขาด

แม้ว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว (ตามทรรศนะของผม) แต่รัฐบาลต้องยินดีและน้อมรับฟังคำวิจารณ์ของทุกฝ่าย ส่วนหนึ่งของคำวิจารณ์นั้นอาจมาจากแรงจูงใจที่ไม่ดีทางการเมือง แต่รัฐบาลอย่าไปสนใจแรงจูงใจดีกว่า หากควรฟังและทบทวนโครงการอยู่ตลอดเวลา แก้ไขปรับเปลี่ยนอย่าให้เกิดรูรั่ว แต่ก็ต้องชัดเจนในด้านเป้าหมายของโครงการ ทั้งแก่ตนเองและประชาชน

เพราะรัฐบาลกำลังทำอะไรที่มีความสำคัญสุดยอดในการเปลี่ยนประเทศไทย หนทางย่อมไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา
source:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น