เรื่องชุด รู้จักลึกๆ 'รวันดา' บทเรียนของโลก บทเรียนของไทย ที่ศึกษาโดยธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ นักวิชาการอิสระเศรษฐศาสตร์การเมือง เครือข่ายเสริมสร้างสังคมสันติสุข โดยจะทยอยนำเสนอทั้งสิ้น 10 ตอน
บทนำ
รวันดา หรือ สาธารณรัฐรวันดา ( Republic of Rwanda) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทางตะวันออกของประเทศอยู่ติดกับทะเลสาบเกรตเลกส์ (Great Lakes) รวันดาเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่บริเวณระหว่างตอนกลางและตะวันออกของทวีปแอฟริกา มีอาณาเขตติดต่อกับยูกันดาทางตอนเหนือ บุรุนดีทางตอนใต้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (แซร์: 1971-1997) ทางตะวันตกเฉียงเหนือมาจนถึงตะวันตก และแทนซาเนียที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ไล่ขึ้นมาถึงทางตะวันออก รวันดามีลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาที่อุดมสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ปกคลุมไปด้วยภูเขามากที่สุดในทวีปแอฟริกา พื้นที่บางส่วนเป็นภูเขาที่มีความสูงถึง 14,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้ได้สมญานามจากเบลเยียม เจ้าอาณานิคมเก่าว่าเป็น “ดินแดนแห่งเขาพันลูก” รวันดา เป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดในแอฟริกา มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ตารางไมล์ ซึ่งเทียบได้กับขนาดของมลรัฐ Maryland สหัฐอเมริกา แต่ด้วยประชากร 8 ล้านคน ทำให้มีประชากรมากกว่ามลรัฐ Maryland ถึงสองเท่า
รวันดาก็เป็นแผ่นดินที่มีความหลากหลายทุกๆด้าน ภูมิประเทศในฝั่งตะวันตกของประเทศเต็มไปด้วยป่าฝน ภูเขาไฟ หุบเขาสูง ภูเขาที่มีสันคมมีเชิงเขาลาดเอียงทอดแนวคล้ายผ้าห่มยาวตลอดถึงภูมิภาคส่วนกลางของประเทศ หลายพื้นที่มีการปลูกกล้วยและยูคาลิปตัส ส่วนพื้นที่แถบฝั่งตะวันออกมีลักษณะเป็นบึงใหญ่ ทะเลสาบและที่ราบทุ่งหญ้า การที่ภูมิภาคแห่งนี้มีทั้งทะเลสาบขนาดใหญ่และเล็กในทางตะวันออกของแอฟริกาเป็นจำนวนมาก ภูมิภาคนี้จึงถูกเรียกว่า “the Great Lakes Region”
รวันดาแบ่งการปกครองออกเป็น 10 เขตด้วยกันเรียกว่า prefectures แต่ละ prefecture ประกอบไปด้วย 143 ชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยปกครองของแต่ละ prefecture โครงสร้างนี้เหมือนกับโครงสร้างของการปกครองในสหรัฐอเมริกาซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละรัฐและรวมเป็นประเทศ เมืองหลวงคือ กรุงคิกาลี ซึ่งเป็นใหญ่เมืองเดียวที่มีอยู่ของรวันดาตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางของประเทศ และเป็นหน่วยปกครองศูนย์กลางของ prefecture คิกาลี เมืองศูนย์กลางของประเทศนี้เป็นหน่วยปกครองกลางของ prefecture อื่นๆอีก 9 หน่วย เมืองอื่นๆที่มีความสำคัญได้แก่ จิเซนยี ซึ่งตั้งอยู่โดยแวดล้อมด้วยทะเลสาบคิวู และบูแทร์ ทางตอนใต้ และทะเลสาบรูเฮนเจรีทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทุกพื้นที่จะมีฟาร์มเล็กๆของการเกษตรตั้งอยู่รอบๆกระจัดกระจายทั่วทุกส่วนของประเทศ
ประชากร-ชนเผ่า
ประชากรของรวันดาได้แบ่งออกเป็นกลุ่มชนเผ่า 3 กลุ่มด้วยกัน กล่าวคือกลุ่มทวา (หรือรู้จักในนามของกลุ่มบัทวา) มีจำนวนประมาณ 1% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นชนเผ่าแรกที่เป็นผู้อาศัยในประเทศ อีกสองชนเผ่าที่สำคัญของประเทศได้แก่ กลุ่มฮูตู (หรือบะฮูตู) ซึ่งก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองมีจำนวนมากประมาณ 85 % ของประชากรทั้งหมด และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มตุ๊ดซี่ (หรือบะตุ๊ดซี่) ซึ่งมีจำนวน 14 % ของประชากรทั้งหมด ก่อนเกิดสงครามกลางเมือง สัดส่วนของชนเผ่าตุ๊ดซี่ และ ฮูตูยังคงเหมือนเดิม ในประวัติศาสตร์ของรวันดา ชนเผ่าฮูตูและเผ่าตุ๊ดซี่ นอกจากอาศัยในรวันดาแล้ว ยังอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านด้วย อย่างเช่น ในประเทศเบอรันดี ซึ่งมีสัดส่วนพอๆกับสัดส่วนกลุ่มชนเผ่าอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นยังอาศัยอยู่ในประเทศอูกันดา แทนซาเนีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ด้วย แต่เป็นชนส่วนน้อยของประเทศดังกล่าว
ชาวทวา ชาวฮูตู และชาวตุ๊ดซี่ได้อยู่ร่วมกันในรวันดามาเกือบ 1,000 ปี ชาวฮูตู ชาวตุ๊ดซี่ และชาวทวาต่างก็มีค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมคล้ายๆกัน ต่างก็พูดภาษาเดียวกันคือ เคินยาวานดา ชาวฮูตูและตุ๊ดซี่อาศัยอยู่ร่วมกันทั้งในย่านชนบทและในเมือง ทั้งยังมีการแต่งงานข้ามชนเผ่าระหว่างสองชนเผ่านี้ด้วย ทั้งสองชนเผ่าต่างก็เป็นคริสเตียนซึ่งนับถือทั้งนิกายคาธอลิกและโปรเตสแตนท์ คละเคล้ากันไป การแบ่งชนเผ่ามีความหมายเหมือนกับการแบ่งชนชั้นทางสังคม เพราะได้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนนำไปสู่ความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันทางการเมือง
สภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
รวันดาเป็นประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มากกว่า 95% ของประชากรเป็นเกษตรกร ซึ่งในภูมิภาคที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมที่สุดประชากรจะยิ่งหนาแน่นมากเป็นพิเศษ บางครั้งก็มากถึงขนาดว่ามีประชากร 1,100 คนต่อเนื้อที่ 1 ตารางไมล์ เช่นเขตการปกครอง บูแทร์และรูเฮนเจรี นอกจากนั้นพื้นที่ที่ราบสูงส่วนกลางของประเทศซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 5,000-7,000 ฟุต ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดและมีประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศเช่นกัน ส่วนในแถบชนบทประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเนินเขาแต่ก็เต็มไปด้วยครัวเรือนจำนวนมาก เนื่องจากการเกษตรกรรมเป็นแหล่งที่มาหลักของอาหาร แหล่งงาน และรายได้ ดังนั้นที่ดินทำเกษตรกรรมจึงมีค่ามากและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในประเทศ
ชาวรวันดาใช้พื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกไม้ล้มลุก เช่น ถั่ว กล้วย มันเทศ ข้าวโพด ถั่วเขียว และถั่วลิสง เป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตประชากรรวันดา ส่วนพืชที่เพาะปลูกเพื่อการค้า คือ เมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดและนำรายได้เข้าประเทศมากที่สุด นอกจากนั้นรวันดายังปลูกชา ฝ้าย ซึ่งมีการนำดอกของของชา และฝ้ายไปใช้ในการผลิตยาฆ่าแมลง เพื่อส่งออกไปยังประเทศในยุโรปและประเทศอื่นๆในแถบแอฟริกา ส่วนการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโค กระบือ เป็นสิ่งสำคัญมาก บางส่วนนำมารีดเอานม หรือไม่ก็นำมาเพื่อเป็นอาหาร ส่วนที่ไม่อาจนำมาเป็นอาหารหรือรีดนำนมมาดื่มได้ เพราะความไม่สมบูรณ์ จะนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง และเป็นเครื่องเชิดชูสถานะทางสังคมของบุคคล
การเกษตรกรรม นำมาซึ่งการแข่งขันเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดในการผลิตเพื่อการค้า ที่ต้องมีทั้งคุณภาพและปริมาณ จึงเพิ่มความต้องการมีพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อครองความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ที่ดินถูกเปลี่ยนมือระหว่างชาว ฮูตู กับตุ๊ดซี่ หลายครั้งหลายคราอย่างต่อเนื่องเพียงช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างกรมที่ดินก็เจออำนาจกดดันทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิงเหล่านี้ได้กลายเป็นเชื้อโหมความกดดันและความตึงเครียดทางด้านสังคมและชาติพันธุ์ ให้รุนแรงขึ้น
นอกจากนั้นอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีถึง 3.7% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในโลกยิ่งทำให้ความกดดันทางด้านประชากรเพิ่มมากขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นของชาวรวันดาเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรเพิ่มมากขึ้น 2.1% ต่อปี ซึ่งเท่ากับมีประชากรเพิ่มขึ้น 168,000 คนต่อปี อัตราประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นขนาดนี้ได้เพิ่มแรงกดดันให้กับการแสวงหาที่ดินทำกิน เพราะว่าเมื่อมีประชาชนอยู่ในที่ดินจำนวนมากจึงมีการทำเกษตรกรรมที่หนาแน่นมากต่อพื้นที่ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การแผ้วถางพื้นที่ป่า อันเป็นการทำลายที่ทำกินที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดความอดอยากอย่างต่อเนื่อง ในปี 1990 ประชากรมากกว่า 300 คนทางตอนใต้ของประเทศเสียชีวิตเพราะความอดอยาก ในช่วงปี 1920-1930 ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงที่ภาวะอดอยากของประชากรอยู่ในฐานะรุนแรงที่สุดได้คร่าชีวิตของชาวรวันดาไปไม่ต่ำกว่า 50,000 คนในเวลาเพียง10 ปี
ภาวะความอดอยากและขาดแคลนอาหารยังเกิดจากการขาดแคลนที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ที่ดินจำนวนแค่ประมาณ 35% ของที่ดินทั้งหมดเท่านั้นที่สามารถทำการเกษตรได้ ในขณะที่ 20% ของที่ดินเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ และ 11% เป็นป่า ส่วนที่เหลือ 34% ของประเทศประกอบไปด้วยบึง พื้นที่ที่เป็นหนองน้ำ อุทยานแห่งชาติ ภูเขาไฟ ภูเขา พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง พื้นที่ป่าไม้ นอกนั้นก็เป็นพื้นที่ในเมือง เกษตรกรรมในภูมิภาคนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก
สภาพอากาศที่ผันผวนก็เป็นอุปสรรคต่อการเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน รวันดาตั้งอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเพียงแค่ 2 องศาไปทางตอนใต้ จึงเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน รวันดามี 4 ฤดูกาลด้วยกัน มี 2 ฤดูที่มีฝนตกชุก และอีก 2 ฤดูที่อากาศแห้งมากซึ่งมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเกษตรกรรม การเดินทาง การค้า และโทรคมนาคม อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ประเทศจึงมีอากาศค่อนข้างเย็นซึ่งมีอุณหภูมิประจำวันที่ประมาณ 68 องศาฟาเรนไฮต์ สภาพอากาศที่มีฝนตกชุกยาวนานหลายวันจะอยู่ในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม ส่วนสภาพอากาศที่ฝนตกชุกระยะสั้นจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนธันวาคม ในขณะที่ฤดูที่มีอากาศแห้งจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมและกลางเดือนตุลาคม สภาพอากาศที่แปรปรวนเช่นนี้มีผลต่อความสามารถของชาวรวันดาในการผลิตทางด้านเกษตรกรรมและดำรงชีพอย่างต่อเนื่อง
ความสำคัญของเกษตรกรรมยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นไปอีกเมื่อพบว่าประเทศมีสินแร่ที่ไม่มีราคามากนัก ประเทศมีแหล่งสินแร่แค่เพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็น ดีบุก ดินเหนียว ปูนขาว และทังสเตน แต่แร่เหล่านี้ก็ใช้ได้เพียงพอแค่ในประเทศ ไม่มีผลิตภัณฑ์แปรรูป ดังนั้นอุตสาหกรรมหลักของประเทศคือการผลิตอาหารและอุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมขนาดเล็กอื่นๆได้แก่ การทำกระดาษ การผลิตสารเคมีและยางพารา โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมและการค้าใช้กับประชากรของประเทศแค่เพียง 2% เท่านั้น
กระทั่งปี 1990 การท่องเที่ยวเป็นแหล่งที่มาของเงินได้อันดับ 2 ของประเทศซึ่งทำเงินให้กับประเทศ 8-10 ล้านดอลลาร์ต่อปี นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาเยี่ยมชมสัตว์หายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เช่นกอริลล่าภูเขา โดยครึ่งหนึ่งของกอริลล่าภูเขาที่ยังหลงเหลืออยู่ในโลกล้วนอาศัยอยู่ในภูเขาวีรุงก้า ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศรวันดา เป็นรอยต่อตามเขตแดนของประเทศอูกันดาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในอดีตรวันดายังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังของเศรษฐีชาวต่างชาติและนักการทูตยุโรป โดยเฉพาะจิเซนยีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดัง ซึ่งตั้งอยู่ของฝั่งแม่น้ำคิวู มีหาดทรายขาว โรงแรมฉาบปูน มีร้านกาแฟกลางแจ้ง และที่สำคัญคือเดินทางสะดวกโดยใช้สนามบินคิกาลี แต่ความขัดแย้งได้ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของรวันดาพังทลายลงไปเสียสิ้น
การคมนาคมและการสื่อสาร
ถึงแม้ว่ารวันดาจะมีถนนที่กว้างขวางแต่มีถนนที่ลาดยางยาวเพียง 620 ไมล์เท่านั้น เช่น ถนนสายจากคิกาลี ถึงจีเซนยี ส่วนถนนที่เหลือซึ่งยาวถึง 6,835 ไมล์ ใช้สัญจรติดต่อกับเมืองต่างๆ เป็นถนนที่มีสภาพไม่ดีขรุขระและมีฝุ่นตลบ ยานพาหนะสัญจรอย่างยากลำบาก ยิ่งในช่วงฤดูฝนดินถล่มพังทลายทำให้ใช้การไม่ได้ สะพานก็พอมีให้เห็นอยู่บ้าง ดังนั้นบางภูมิภาคจึงเดินทางได้เฉพาะในช่วงเหน้าแล้งที่มีสภาพอากาศแห้งเท่านั้น ไม่มีการขนส่งทางรถไฟ ประชาชนส่วนใหญ่จึงเดินทางด้วยรถประจำทางหรือไม่ก็เดินเท้า ปกติแล้วก็จะอยู่ใกล้ๆบ้านไม่ไปไหนไกล ชาวชนบทจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียงครอบครัวมักจะอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มในละแวกเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปในเมืองหรือไปตลาด ชาวรวันดา เพียงน้อยคนที่มีรถยนต์เป็นของตนเอง
สำหรับชาวชนบท โทรศัพท์เป็นสิ่งที่มีราคาแพงเกินกว่าการเป็นเจ้าของได้ ชาวรวันดาเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีใช้ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจึงผ่านปากต่อปากเป็นส่วนใหญ่ มีสื่อสิ่งพิมพ์ผลิตโดยรัฐ มีหนังสือพิมพ์คุณภาพไม่ดีอยู่มากมายจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยรัฐบาล พรรคการเมือง หรือไม่ก็โบสถ์คาธอลิก หนังสือพิมพ์เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะมีผู้อ่านที่เป็นอภิสิทธิ์ชนในเมืองเท่านั้น ประชาชนในชนบทจะไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์ แต่อย่างใด ดังนั้นข้อมูลข่าวสารทั้งหลายส่วนใหญ่จึงรับทราบจากวิทยุ ประชาชนจึงมีช่องทางสื่อสารสำคัญทางเดียวคือการฟังวิทยุ การกระจายเสียงวิทยุจึงเป็นเป็นวิธีสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเข้าถึงประชาชนในทันที สื่อวิทยุเหล่านี้ รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการและเป็นเจ้าของ ที่เรียกว่า “วิทยุรวันดา” ซึ่งเข้าถึงประชาชนจำนวนมากและถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลของชาวรวันดาที่สำคัญที่สุด
การขาดแคลนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารมวลชนที่มีอิสระส่งผลทำให้เกิดการครอบงำความคิดประชาชนได้โดยง่าย สื่อของรวันดาได้โหมกระพือความขัดแย้งให้ร้ายแรงขึ้นโดยกระจายการโฆษณาชวนเชื่อ และนำเสนอข่าวโคมลอย ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชน เนื่องจากชุมชนชาวชนบทค่อนข้างอยู่กันโดยแยกตัวออกไปเป็นกลุ่มๆและไม่สามารถได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นธรรม ดังนั้นชาวรวันดาจำนวนมากจึงกระทำการหรือตัดสินใจไปโดยได้รับข่าวสารอย่างผิดๆ
ความขัดแย้งทางชนเผ่า
ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์อาจเกิดได้จากปัญหาหนึ่งๆหรือข้อเท็จจริงอื่นๆผสมกัน เป็นต้นว่าความเชื่อทางศาสนา สังคม และการเมืองที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ประชาชนแตกแยก หรือบางครั้งการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนเกิดขึ้นจากลักษณะทางชาติพันธุ์ สถานะทางสังคม บรรพบุรุษ ความมั่งคั่ง ระดับการศึกษา หรือภาษาที่พูดก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ด้วย ในกรณีของรวันดาชาวฮูตู และตุ๊ดซี่พูดภาษาเดียวกันและมีสถานะทางสังคมพอๆกัน และยังมีความเชื่อทางด้านศาสนาคล้ายคลึงหรือเหมือนกัน แต่บ่อเกิดของปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มนี้อันเนื่องมาจากการแก่งแย่งอำนาจทางสังคมและการเมือง
ชาวฮูตูและตุ๊ดซี่มีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน ในช่วงยุค 1800 ชาวตุ๊ดซี่เป็นชนเผ่าที่มีอำนาจทางการเมืองมากและได้ถือครองที่ดินบริเวณที่ดีที่สุดของประเทศ ในขณะที่ชาวฮูตูมักจะเป็นชาวนา เป็นเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน ล้วนแล้วเป็นกลุ่มที่ถือว่าไม่มีคุณภาพไม่มีทั้งอำนาจทางการเมืองและสังคม ดังนั้นสังคมของรวันดาจึงแบ่งประชาชนออกเป็นชนชั้น ระหว่างชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตู โดยชาวตุ๊ดซี่กลายเป็นคนในสังคมชั้นสูง ส่วนชาวฮูตู กลายเป็นคนในสังคมชั้นล่าง
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 19 เมื่อรวันดาตกเป็นอาณานิคมของเยอรมัน การแบ่งชนชั้นทางด้านสังคมได้ยุติลงชั่วคราวตามนโยบายของผู้ปกครอง แต่หลังจากนั้นเมื่อในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 รวันดาตกเป็นอานิคมของเบลเยียม รัฐบาลอาณานิคมของเบลเยียมได้ให้การสนับสนุนชาวตุ๊ดซี่ ทำให้ชาวตุ๊ดซี่มีอำนาจในการควบคุมสังคมรวันดามากกว่าชาวฮูตู ชาวตุ๊ดซี่ได้ที่ดินทำกินและได้รับตำแหน่งในรัฐบาลและเป็นเจ้าของในธุรกิจต่างๆมากมาย ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลอาณานิคม ชาวตุ๊ดซี่จึงสามารถสกัดการต่อต้านจากชาวฮูตูอย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงนี้ชาวฮูตูกลายเป็นชนชั้นล่างที่ไม่อาจเข้าถึงการศึกษาและวิถีทางที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น ทำให้ความแตกต่างระหว่างชนชั้นกลับมาอีกครั้งและยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ความขัดแย้งนี้ส่งผลให้รัฐบาลอาณานิคมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการปกครอง
การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเจ้าหน้าที่อาณานิคมเบลเยียม ทำให้ชาวฮูตูได้รับการศึกษาในยุค 1950 การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแค่ทำให้ชาวฮูตูมีสถานะทางสังคมสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ชาวฮูตู ตระหนักถึงสิทธิในฐานะที่เป็นประชาชนชาวรวันดาด้วย นับแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมาเชื้อแห่งความขัดแย้งของชาวฮูดูกับตุ๊ดซี่ ได้เกิดขึ้นเริ่มมาจากการถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ชาวฮูตูจำนวนมากรู้สึกว่าตนต้องทนทุกข์ทรมาน มาหลายศตวรรษภายใต้การปกครองของชาวตุ๊ดซี่และมหาอำนาจยุโรป ผลที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกนี้นำไปสู่การปฏิวัติเมื่อปี 1959 ซึ่งก่อให้เกิดความคิดก้าวหน้าในหมู่ชาวฮูตูทั้งหลาย แต่หลังจากปี 1959 เป็นต้นมาการเลือกปฏิบัติต่อชนเผ่ากลับตาลปัตรเพราะกลายเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวตุ๊ดซี่แทน ผู้นำชาวฮูตูยืนยันจากมุมมองของชนกลุ่มใหญ่ว่าชาวฮูตูควรได้เป็นผู้ปกครองประเทศ และเป็นผู้ครอบงำทางด้านเศรษฐกิจการเมืองซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยังเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน
นิยามว่าบุคคลใดจะเป็นชนเผ่าฮูตูหรือตุ๊ดซี่นั้น แตกต่างกันในหลายศตวรรษ ในช่วงแรกลักษณะของอาชีพเป็นสิ่งที่บ่งบอก และแยกชาวฮูตูออกจากชาวตุ๊ดซี่ เพราะชาวตุ๊ดซี่จะมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ ส่วนชาวฮูตูจะมีอาชีพเป็นเกษตรกร ในช่วงศตวรรษที่ชาวตุ๊ดซี่ปกครองรวันดา การบ่งบอกสถานะว่าใครเป็นชนเผ่าใดดูจากสถานะทางสังคม กล่าวคือชาวตุ๊ดซี่จะมีลักษณะทางสังคมที่สูงกว่าชาวฮูตู แต่การปกครองภายใต้อาณานิคมการบ่งบอกลักษณะทางเผ่าพันธุ์กลับดูจากทั้งลักษณะทางกายภาพและลักษณะทางสังคม กล่าวคือทัศนคติของคนยุโรปนิยามชาวตุ๊ดซี่ว่าเป็นผู้ปกครองที่ร่ำรวย สูง ผอม และมีการศึกษาดี ส่วนชาวฮูตูเป็นชาวนาที่มีลักษณะเตี้ย ม่อต้อ และไม่มีการศึกษา ถึงแม้ว่าทัศนคตินี้จะไม่ถูกต้องแต่การสร้างสัญลักษณ์และตรีตราทางชนเผ่าแบบนี้รวมทั้งมีการตอบรับทางกายภายและทางสังคมทำให้สัญลักษณ์ที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวกลับได้ผล เพราะชาวรวันดาจำนวนมากมีความเชื่อในทัศนคติเหล่านี้แล้ว
อย่างไรก็ตามการที่ระบบการเมืองที่มีความซับซ้อน บ้างครั้งชาวฮูตูบางคนก็มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจได้บ้าง นอกเหนือจากนั้นการแต่งงานระหว่างชนเผ่าก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การบ่งบอกลักษณะว่าใครเป็นชนเผ่าใดจึงมีความยืดหยุ่น ครอบครัวชาวฮูตูที่มีฐานะร่ำรวยมักจะถือตัวเองว่าเป็นชาวตุ๊ดซี่ที่เป็นคนชั้นสูง แต่ความขัดแย้งของชนเผ่าเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วได้ช่วยขจัดความเป็นชนชั้นทางชนชั้นลง แต่สิ่งที่ตามมาคือการแยกชนเผ่าระหว่างชาวฮูตูและตุ๊ดซี่ให้หันมาต่อต้านซึ่งกันและกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับชนชั้นอีกต่อไป
ต่อมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 จนถึงตอนปลาย สถานะทางสังคมและลักษณะทางกายภาพไม่ได้นำมาใช้นิยามชนเผ่าอีกต่อไป เพราะการแต่งงานข้ามชนเผ่าจนไม่อาจพิจารณาแยกแยะลักษณะทางภายภาพได้อีกว่าใครเป็นชนเผ่าใด นอกเหนือจากนั้นชาวฮูตูและตุ๊ดซี่ต่างก็ไม่เชื่อตามทัศนคติของมหาอำนาจยุโรปอีกต่อไป อย่างไรก็ตามทั้งๆที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติไปแล้วก็ตาม แต่กลุ่มพวกนิยมหัวรุนแรงในรวันดาบางกลุ่มก็ยังใช้ทัศนคติค่านิยมดั้งเดิมในการแยกแยะความแตกต่างทางด้านชนเผ่าให้ดำรงอยู่ต่อไป เพื่อกระตุ้นความรู้สึกคับแค้นและคับข้องใจของชนเผ่าในอดีต ตอกย้ำความรู้สึกที่จะนำมาสนับสนุนความรุนแรงและเจตนารมณ์ของกลุ่มตนทางการเมืองต่อไป
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา รวันดา ถูกปกคลุมไปด้วยบรรยากาศแห่งความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์และการเมือง ความขัดแย้งได้ก่อตัวและระอุรุนแรงขึ้นมาในปี 1994 เมื่อการต่อสู้ได้อุบัติขึ้น ความขัดแย้งได้ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนรวันดาเกือบ 1 ล้านชีวิต เกิดปัญหาผู้อพยพ เด็กกำพร้า จำนวนมหาศาล และบุคคลที่มีส่วนในการสร้างปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้เหมือนกันกับหลายๆประเทศ มักประกอบไปด้วย นักการเมือง ทหาร เป็นแกนหลัก และประชาชนทั่วไปเป็นผู้ตาม ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้การแสวงหาอำนาจและแย่งชิงเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง โดยไม่คำนึงถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ที่มา:
http://www.tadada.info/journal/2012/12/44012
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น