บทที่ 1
บทนำ
คำกล่าวของอริสโตเติ้ล (Aristotle) นักปราญช์ชาวกรีกโบราณเมื่อ 400 – 300 ปีก่อนคริสตกาล ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” นั้น (Wikipedia, 2011) ย่อมแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพังได้ มนุษย์ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือสร้างความเจริญต่างๆ ในสังคม นอกเหนือจากการติดต่อกันระหว่างมนุษย์ภายในกลุ่ม หรือสังคมเดียวกันแล้ว ตั้งแต่ยุคอารยธรรมโบราณ มนุษย์ยังติดต่อสื่อสารและสร้างสายสัมพันธ์สมาคมกับสังคมอื่นๆ เช่นที่ปรากฎในอารยธรรมจีนโบราณ ตามเส้นทางสายไหมหรือเส้นทางแพรไหม (Silk Road) ชาวจีนได้ติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศ โดยใช้เส้นทางทางบกในการเดินทางผ่านประเทศต่างๆ ไปยังเอเชียกลางจนไปสิ้นสุดที่ยุโรป และความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมิได้เกิดขึ้นเพียงมิติทางการค้าเพียงเท่านั้น แต่ยังปรากฎในมิติอื่นๆ เช่น การทูต การเมือง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม นอกจากนี้ อาเธอร์ เอ. นัสบัม (Arthur A. Nussbaum) และ แฟรงค์ ดับเบิ้ลยู รัสเซล (Frank W. Russell) กล่าวว่า มนุษย์ได้เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเป็นระยะเวลากว่าสี่พันปี (ศิโรตม์ ภาคสุวรรณ, 2542, หน้า 7)
หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านความรู้ทั่วไป แนวคิด ทฤษฎี ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ พฤติกรรม เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์ การต่างประเทศของไทย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับรัฐชาติต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น และบทสุดท้ายผู้เขียนได้วิเคราะห์สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคตไว้อีกด้วย
ความหมาย
ก่อนที่จะทำความเข้าใจในหลักการต่างๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น เราคงต้องทราบถึงความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสียก่อน ความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น มี 2 นัย ได้แก่
1. นัยของสาขาวิชา
ความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถือเป็นศาสตร์หนึ่งนั้น ได้มีผู้ให้ความหมาย เช่น
1.1 The Columbia Encyclopedia ให้ความหมายว่า “วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและเศรษฐกิจในระบบระหว่างประเทศ” (The Columbia Encyclopedia, 2005)
1.2 Absolute Astronomy Reference กล่าวว่า “วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศของรัฐชาติภายในระบบระหว่างประเทศ รวมถึงบทบาทขององค์การระหว่างประเทศ (International Organizations: IOs) องค์การที่ไม่ใช่รัฐชาติ (Non-governmental organizations: NGOs) และบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations: MNCs) (Absolute Astronomy Reference, 2005)
1.3 Wikipedia Encyclopedia นิยามว่า “วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง กิจกรรมต่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติทั้งหลายภายในระบบระหว่างประเทศ รวมถึงบทบาทของรัฐชาติ, องค์การระหว่างรัฐ (Inter-governmental organizations: IGOs), องค์การระหว่างประเทศที่ไม่ใช่รัฐ (International non-governmental organizations: INGOs) องค์การที่ไม่ใช่รัฐ (Non-governmental organizations: NGOs) และบรรษัทข้ามชาติ (multi-nation corporations: MNCs) โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 หลักใหญ่ๆ ได้แก่ หลักวิชาการ กับ หลักนโยบายสาธารณะ และศึกษาได้เป็น 2 ลักษณะ คือ แบบปทัสถาน (Normative) หรือ แบบปฏิฐาน (Positive) การวิเคราะห์ด้วยหลักการต่างๆ สามารถนำมาจัดทำเป็นนโยบายการต่างประเทศได้อย่างดี สำหรับการศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสาขาหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ จะยึดหลักการศึกษาแบบสหวิทยาการ” (Wikipedia, 2011)
จะเห็นได้ว่าความหมายทั้ง 3 ข้างต้น ได้ให้ความหมายของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามนัยของสาขาวิชานั้นใกล้เคียงกันพอสมควร และการศึกษาเกี่ยวกับวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มักศึกษาอยู่ในชั้นเรียนของวิชารัฐศาสตร์หรือคณะรัฐศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ อาจสรุปได้ว่าวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศและตัวแสดงทั้งที่เป็นรัฐชาติและไม่ใช่รัฐชาติ
2. นัยของพฤติกรรม
จากความหมายตามนัยนี้ นักวิชาการรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ให้ความหมายไว้ต่างๆ กัน ดังนี้
2.1 คาร์ล ดับเบิ้ลยู ดอยช์ (Karl W. Deutsch) กล่าวว่า “เป็นพฤติกรรมและการกระทำต่างๆ ของรัฐชาติหนึ่งที่มีต่อรัฐชาติหนึ่งโดยปราศจากการควบคุมอย่างเพียงพอ” (Deutsch, 1988, p. IX)
2.2 คอนเวย์ ดับเบิ้ลยู เฮนเดอร์สัน (Conway W. Henderson) ได้ให้ความหมายว่า “การศึกษาว่าใครได้อะไร เมื่อใดและอย่างไร ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตัวแสดงที่เป็นรัฐชาติและที่ไม่ใช่รัฐชาติทั้งหลาย” (Henderson, 1998, p. 27)
2.3 โจชัว เอส โกลด์สไตน์ (Joshua S. Goldstein) ระบุว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะสนใจศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของรัฐชาติต่างๆ ที่เป็นชาติสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ แต่การศึกษาความสัมพันธ์เหล่านี้เพียงอย่างเดียวไม่อาจทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ หากแต่เราต้องศึกษาถึงตัวแสดงอื่นๆ เช่น องค์การสหประชาชาติ บรรษัทข้ามชาติ และปัจเจกบุคคลด้วย อีกทั้งต้องศึกษาโครงสร้างทางสังคม เช่น เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองภายในรัฐชาติ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาด้านภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ที่ครอบงำในสังคมนั้นๆ ด้วย” (Goldstein, 1996, p. 3)
จากความหมายทั้ง 3 ข้างต้น เราสามารถพอที่จะสรุปความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ “กิจกรรมที่ตัวแสดงระหว่างประเทศต่างๆ ได้แสดงพฤติกรรมหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อตัวแสดงอื่นๆ โดยตัวแสดงทั้งหลายอาจเป็นรัฐชาติ หรือไม่ใช่รัฐชาติก็เป็นได้ ซึ่งต้องศึกษาปัจจัยแวดล้อมของตัวแสดงต่างๆ ที่อาจมีผลต่อการกำหนดท่าทีและการแสดงออก”
วัตถุประสงค์
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมีเหตุผลที่แตกต่างกันของปัจเจกบุคคล เช่น นักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ ที่ต้องการมาลงทุนทำโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย จำเป็นต้องเข้าใจระเบียบและกฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทางธุรกิจ แต่นักธุรกิจผู้นี้อาจไม่จำเป็นต้องติดต่อกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ของประเทศไทยด้วยตนเอง เพราะนักธุรกิจผู้นี้สามารถติดต่อหรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับ BOI ของประเทศไทย ผ่านมาทางท่านทูตพาณิชย์ของสถานทูตเกาหลีใต้ประจำกรุงเทพมหานครก็เป็นได้
หรือการรับข่าวสารของคนไทยเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น จนเป็นเหตุทำให้เกิดคลื่นซึนามิ (Tsunami) และเกิดความเสียหายมหาศาลในบริเวณเมืองเซ็นได ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียว ประมาณ 372 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวกับโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่จังหวัดฟูกูชิมาจนรัฐบาลทั่วโลกที่มีโรงงานประเภทดังกล่าว หรือกำลังจะสร้างโรงงานประเภทนี้ต้องพิจารณาเกี่ยวกับโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานชนิดนี้เสียใหม่ (Matichon, 2011) ข้อมูลข่าวสารที่ผ่านสื่อสารมวลชนมายังประชาชนของไทยย่อมทำให้เกิดการเรียนรู้และสามารถป้องกันภัยจากปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
จากตัวอย่างข้างต้น ศาสตราจารย์ ยอร์จ เอฟ เคนแนน (George F. Kennan) ได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ 2 ประการ คือ
1. บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมระหว่างประเทศ
สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น นักการทูต นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ฯ การศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถือว่าเป็นการปูพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนเริ่มการทำงาน เพื่อให้เกิดความรอบรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลอย่างรอบด้าน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งจะถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั่นเอง
2. บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมระหว่างประเทศ
กรณีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น การศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็จะทำให้ผู้ศึกษาเกิดความรู้ ความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดกับสังคมโลกได้อย่างเป็นระบบ และมีเหตุมีผล (Kennan, 1953, p. 10-12)
เฮนเดอร์สัน ได้ให้ความเห็นว่า “โลกปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับการที่จะศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะละครเวทีประชาคมโลกได้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังจากยุโรปตะวันออกล่มสลายและสงครามเย็นยุติลง อีกทั้งหลักการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ว่าด้วยสันติภาพและความร่วมมือเหล่านี้ได้สูญสิ้นไปเมื่อเกิดสงครามอ่าวเปอร์เชีย” หรือ คำกล่าวของแฮนรี่ คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา “วันนี้เราไม่ได้กำลังเผชิญหน้ากับการจัดระเบียบโลกใหม่ แต่เรากำลังเผชิญกับโครงสร้างอำนาจเก่าที่เคยครอบงำเราระหว่างสงครามเย็น” (Henderson, 1998, p. 3-4)
จากคำกล่าวของเฮนเดอร์สัน และคิสซิงเจอร์ ถือเป็นการยืนยันถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าใจสังคมชุมชนระหว่างประเทศได้อีกแรงหนึ่ง เพราะสังคมชุมชนระหว่างประเทศได้วิวัฒนาการจนมีความซับซ้อนต่างจากเดิมเป็นอย่างมาก ขอบเขตของกิจกรรมระหว่างประเทศก็สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายมิติตามที่จะกล่าวต่อไป
ขอบเขต
วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักจะไม่มีขอบเขตของการศึกษาอย่างแน่ชัด บางมหาวิทยาลัยได้จัดให้การศึกษาวิชานี้เป็นอีกคณะหนึ่งต่างหาก แต่ส่วนใหญ่ยังถือว่าวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ นอกจากนี้วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักเชื่อมโยงกับวิชาต่างๆ อย่างหลากหลายสาขา เช่น การเมือง, กฎหมาย, ปรัชญา, เศรษฐศาสตร์, ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์, สังคมวิทยา, มานุษยวิทยา, จิตวิทยา, วัฒนธรรม และอื่นๆ ทั้งนี้การศึกษาจากสาขาต่างๆ ทั้งหลายก็เพื่อการทำความเข้าใจและอธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลก ที่เป็นประเด็นสำคัญๆ และผลกระทบที่มีต่อสังคมและอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ เช่น การพัฒนาและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, ปัญหานิวเคลียร์, ลัทธิชาตินิยม, การก่อการร้าย, ขบวนการอาชญากรรม และสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
ดังนั้น การศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงสามารถศึกษาได้ในหลายแนวทาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะหรือความสามารถของผู้ศึกษาเป็นหลักนั่นเอง เช่น
1.1 วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
1.2 วิชาการเมืองระหว่างประเทศ
1.3 วิชาการทูตและพิธีการทูต
1.4 วิชากฎหมายระหว่างประเทศ
1.5 วิชาประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศ
1.6 วิชาภูมิรัฐศาสตร์
1.7 วิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง
1.8 วิชาสังคมวิทยาระหว่างประเทศ
ขอบเขตการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสามารถศึกษาได้ในหลายแนวทาง ดังเช่น โจชัว ได้สรุปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถือเป็นศาสตร์ใหญ่ที่ต้องเกี่ยวข้องและนำศาสตร์ทั้งหลายมาช่วยในการศึกษา (Goldstein, 1996, p. 3)
นอกจากขอบเขตการศึกษาตามสาขาวิชาข้างต้นแล้ว สตีเฟน เอ็ม วอล์ท (Stephen M. Walt) ยังกล่าวว่า ขอบเขตของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามปกติมักจะสนใจเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความมั่นคงระหว่างประเทศศึกษา (International Security Study) หรือสนใจเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพ หรือบทบาทของนักการทูต หรือความร่วมมือตามสนธิสัญญาและพันธมิตร เพราะเรื่องราวเหล่านี้ได้ครอบงำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงทศวรรษที่ 1950 และทศวรรษที่ 1960 และยังคงความสำคัญต่อการศึกษาสาขานี้ จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1990 หลังสงครามเย็นยุติ การศึกษาได้ให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวน้อยลง โดยหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับความขัดแย้งในภูมิภาค ความขัดแย้งทางจริยธรรม ประเด็นทางเพศ หรือประเด็นทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศก็เพิ่มความสำคัญมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา เช่น รัฐเหนือ-รัฐใต้ หรือ รัฐยากจนกับรัฐร่ำรวย รวมทั้งประเด็นที่มีการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะ เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประเด็นเหล่านี้เริ่มเข้าสู่การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น (Walt, p. 211-240)
วิธีการศึกษา
นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องการเข้าใจว่า เพราะเหตุใดเหตุการณ์ระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้นเช่นนั้น หรืออะไรที่เป็นสาเหตุจนทำให้สงครามประทุขึ้น หรือทำไมการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศรัฐชาติหนึ่งจึงยอมให้อีกรัฐชาติหนึ่งได้รับผลประโยชน์มากกว่าตน หรืออะไรที่ทำให้รัฐชาติหนึ่งจึงร่ำรวยกว่าอีกรัฐชาติหนึ่ง ต่อคำถามดังกล่าว เราสามารถค้นหาคำตอบได้ในหลายวิธี เช่น หากเราตอบว่า สงครามที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการตัดสินใจของผู้นำรัฐชาติที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และไม่อาจหาข้อยุติลงได้จนเป็นเหตุให้เกิดสงคราม การตอบคำถามเช่นนี้เรียกว่า การพรรณนา (Descriptive) วิธีการนี้จะพยายามค้นหาส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือประเด็นต่างๆ ที่มีผลต่อเหตุการณ์ หรือตัวแสดงที่ได้กระทำการต่างๆ จนนำมาซึ่งผลลัพธ์ตามที่ปรากฏ แต่การตอบคำถามเช่นว่านี้ บางครั้งอาจไม่สามารถค้นหาคำตอบที่แท้จริงได้เสียทีเดียว เพราะยังขาดส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งนั้นคือ ทฤษฎี (Theory) ซึ่งปกติแล้ว หลักการหรือทฤษฎีก็เปรียบเสมือนเลนส์ที่เราใช้ส่องมองสิ่งต่างๆ หากเลนส์เป็นสีเขียวทุกอย่างที่เรามองผ่านเลนส์ก็จะเป็นสีเขียว เช่นเดียวกันกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำเป็นที่เราต้องมองผ่านหลักการใดหลักการหนึ่งเสมอ คำตอบที่ได้จึงจะสมบูรณ์ระดับหนึ่ง ดังนั้นการตอบคำถามจึงต้องประกอบด้วย 2 หลักการ คือ การพรรณนาหรือการบรรยาย และหลักการที่ใช้ในวิเคราะห์
สำหรับหลักการ หรือทฤษฎีทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น เราสามารถจัดเป็นกลุ่มๆ ได้จำนวน 3 กลุ่มประกอบด้วย Conservative, Liberal and Revolution World Views (Goldstein, 1999, p. 6-10)
หลักโลกทัศน์อนุรักษ์นิยม (Conservative World Views) โดยทั่วๆ ไป หลักการนี้ให้คุณค่ากับการรักษาสถานะเดิม (Status Quo) และไม่ค่อยสนใจองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมุ่งสนใจเกี่ยวกับกฎหมายและอำนาจทางการเมือง สำหรับหลักการนี้ตัวแสดงที่สำคัญ คือ รัฐชาติ และสถานะของรัฐชาติมีความสัมพันธ์กับโลกอนาธิปไตย (anarchy world) ที่เกิดจากความล้มเหลวของการจัดอำนาจในระบบระหว่างประเทศ การศึกษาวิชาที่เกี่ยวข้องกับหลักการนี้ส่วนมากจะเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคงระหว่างประเทศ (International Security) โดยหลักการของหลักโลกทัศน์อนุรักษ์นิยมมักให้น้ำหนักกับการจัดระเบียบ (order) เป็นสำคัญ
หลักโลกทัศน์เสรีนิยม (Liberal World Views) หลักการนี้ให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปสถานะเดิมโดยผ่านกระบวนการวิวัฒนาการลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หลายทฤษฎีถูกสร้างขึ้นจากหลักการพื้นฐานของหลักเสรีนิยมที่สนใจเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศมากกว่าเรื่องอำนาจ สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตามหลักการดังกล่าวนี้มักเชื่อมโยงกับวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (International Political Economy: IPE) กล่าวโดยสรุปหลักการโลกทัศน์เสรีนิยมโน้มเอียงที่จะให้คุณค่าในการศึกษากับเรื่องเสรีภาพ (freedom) เป็นหลักใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการค้าเสรี การแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างเสรีในองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ย่อมทำให้เกิดการยอมรับ หรือข้อตกลงระหว่างรัฐชาติได้ และสิ่งนี้เองจะช่วยป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งจนอาจเกิดเป็นสงครามในที่สุด
หลักโลกทัศน์ปฏิวัติ (Evolution World Views) สำหรับหลักการนี้ยึดหลักการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมผ่านการปฏิวัติ หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มุมมองของหลักการนี้สนใจเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมและการเอารัดเอาเปรียบของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว โดยสนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง โลกฝ่ายเหนือ-โลกฝ่ายใต้ และพัฒนาการของโลกที่สาม เพราะความไม่ยุติธรรมได้ปรากฏหลักฐานที่สำคัญ คือ ความยากจนและอดอยากของประชากรส่วนใหญ่ของโลก บ่อยครั้งที่สงครามมีสาเหตุจากการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ปัญหาเกี่ยวกับสงครามสามารถแก้ไขได้ด้วยการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สำหรับหลักโลกทัศน์ปฏิวัตินี้จะให้ความสำคัญและคุณค่ากับการศึกษาเรื่องความยุติธรรม (justice) นั้นเอง
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การติดต่อหรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สามารถอกกเป็นลักษณะต่างๆ กันในเบื้องต้นได้ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2545, หน้า 7) ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ
ความสัมพันธ์ในรูปแบบที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการนั้น หลักการที่ใช้ในการพิจารณาที่สำคัญ คือ การกระทำที่ปรากฏขึ้นตัวแสดงประเภทใดเป็นผู้กระทำการนั้นๆ เช่น การแถลงการณ์กับสื่อสารมวลชนของประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barak Obama) กับแผนปฏิบัติปลิดชีพของนายโอซามา บินลาเดน (Osama Binladin) หัวหน้าขบวนการก่อการร้าย อัล เคดา หรืออัล กออีดะ (Al Qaeda) ในประเทศปากีสถาน ก็ถือได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ เนื่องจากผู้ออกแถลงการณ์มีตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นประมุขของรัฐชาติ และถือเป็นตัวแทนโดยชอบธรรม ในทางตรงข้าม หลังจากการตายของนายบินลาเดนไม่กี่วันได้เกิดเหตุการณ์ระเบิดสนามบินของกองทัพปากีสถานมีทหารเสียชีวิตหลายนาย โดยขบวนก่อการร้ายที่หวังจะตอบโต้ เพื่อเป็นการแก้แค้นให้กับความตายของนายบินลาเดน การกระทำในเหตุการณ์หลังนี้ถือว่าเป็นความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ เพราะขบวนการก่อการร้ายไม่ได้กระทำในฐานะตัวแทนของรัฐชาติ
2. ความสัมพันธ์แบบร่วมมือหรือขัดแย้ง
หากกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบกว้างๆ รัฐชาติต่างเลือกดำเนินนโยบายแบบร่วมมือหรือไม่ก็ขัดแย้ง สำหรับความสัมพันธ์แบบร่วมมือก็มีวิธีดำเนินการได้ในหลายลักษณะ เช่น การเปิดสัมพันธ์ทางการทูต การร่วมเป็นพันธมิตร การให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น ส่วนการทำสงคราม การปิดกั้นทางเศรษฐกิจ การงดติดต่อระหว่างประเทศ การใช้สงครามจิตวิทยา การโฆษณาชวนเชื่อ การแทรกแซงความมั่นคง การขยายจักรวรรดินิยม เหล่านี้ถือเป็นการทำลายรัฐชาติอีกฝ่ายหนึ่ง จึงถือว่าเป็นความสัมพันธ์แบบขัดแย้งนั้นเอง
3. ความสัมพันธ์ลักษณะเข้มข้นหรือหมางเมิน
สำหรับความสัมพันธ์แบบร่วมมือหรือขัดแย้ง ยังสามารถแบ่งลักษณะของความสัมพันธ์ดังกล่าวออกได้อีก 2 ลักษณะคือ ลักษณะเข้มข้นหรือหมางเมิน เช่น ความสัมพันธ์แบบร่วมมือที่เข้มข้นได้ปรากฏขึ้นอยู่เนื่องๆ ในการเมืองโลก ดังเช่น เหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือต่อประเทศยุโรปตะวันตกทางด้านเศรษฐกิจแบบเข้มข้นภายใต้โครงการมาร์แชล (Marshall Plan) หรือความช่วยเหลือทางการทหารภายใต้สนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือ: เนโต้ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ก็ถือว่าเป็นความร่วมมือแบบเข้มข้นเช่นกัน สำหรับความสัมพันธ์แบบขัดแย้งลักษณะเข้มข้นก็เช่น การทำสงคราม การลอบสังหารผู้นำของรัฐชาติอื่น นอกจากนี้ความสัมพันธ์ลักษณะหมางเมิน อาจกระทำโดยเรียกนักการทูตของตนกลับจากดินแดนของรัฐชาติอื่นก็เป็นได้
ลักษณะของความสัมพันธ์ต่างๆ ก็จำเป็นที่ต้องดำเนินการเพียงรูปแบบเดียวเสมอไป เพราะความสัมพันธ์แบบร่วมมือในมิติใดมิติหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องร่วมมือกันในมิติที่เหลือทุกมิติ หรือหากมีความสัมพันธ์แบบขัดแย้งในมิติหนึ่งแล้ว จะต้องขัดแย้งกันในทุกมิติเช่นกัน ดังนั้นการศึกษาลักษณะความสัมพันธ์จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนในแต่ละมิติโดยมิต้องนำมาเชื่อมโยงก็ได้
ตัวแสดง
โกล์ดสไตน์เปรียบสังคมชุมชนระหว่างประเทศเสมือนเวทีโรงละครขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องกล่าวถึงตัวแสดง หรือผู้ทำการแสดง (Actors) บนเวทีดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การแบ่งแยกตัวแสดงสามารถแยกออกเป็น 2 ลักษณะ (Goldstein, 1999, p. 10-16) ได้แก่
1. ตัวแสดงที่เป็นรัฐชาติ (State Actors)
ตัวแสดงที่เป็นชาติ (State) หรือรัฐชาติ (Nation State) ถือเป็นลักษณะหนึ่งของตัวแสดง ซึ่งมีบทบาทหรือความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาตั้งแต่อดีต และตัวแสดงที่เป็นรัฐชาตินี้ ย่อมหมายถึง ชาติหรือรัฐอธิปไตยทั้งหลายที่ต้องมีองค์ประกอบของรัฐอธิปไตย อย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้
1.1 ดินแดน (Territory) หรือพื้นที่ขอบเขตที่แน่นอน ซึ่งได้รับการประกาศตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เช่น พื้นที่ของประเทศไทย หรือประเทศมาเลเซีย ก็จะมีอาณาเขตที่แน่นอนเป็นยอมรับของนานาชาติ
1.2 ประชากร (Population) คือบุคคลที่อาศัยอยู่รวมกันในดินแดนหรือพื้นที่ของรัฐชาติอาจจะมีเพียงไม่กี่เผ่าพันธุ์หรืออาจมีหลายร้อยเผ่าพันธุ์ก็เป็นได้ สำหรับประเทศจีนซึ่งมีประชากรจำนวนมากอันดับที่ 1 ของโลกแล้วยังประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์จึงถือเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้
1.3 รัฐบาล (Government) ชาติอธิปไตยทั้งหลายต้องมีผู้นำ หรือผู้บริหารประเทศ เรียกว่า รัฐบาลนั่นเอง ทั้งนี้รัฐบาลอาจจะมาจากการเลือกตั้งแบบระบอบประชาธิปไตย หรือมาจากการแต่งตั้งก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองของชาตินั้นเป็นสำคัญ
1.4 อธิปไตย (Sovereignty) การเป็นชาติหรือรัฐส่วนสำคัญอย่างยิ่งนั่น คือ อำนาจอธิปไตย เพราะชาติต่างๆ ควรมีอำนาจการตัดสินใจโดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำหรือคำสั่งของชาติภายนอก อันจะแสดงให้เห็นถึงเอกราชของชาตินั่นๆ
ดังนั้น ตัวแสดงที่เป็รัฐชาติ จึงต้องประกอบด้วยองค์ประกอบครบทั้ง 4 ประการเป็นอย่างน้อย แต่ปัจจัยที่ไม่อาจละเลยได้ คือ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือวิถีชีวิตที่เป็นตัวชี้วัดความเป็นชาติของประชาชน มิฉะนั้นก็อาจจะไม่ถือว่าเป็นตัวแสดงที่เป็นรัฐชาติได้
ความสัมพันธ์ของตัวแสดงที่เป็นรัฐชาติ อาจกระทำร่วมกันได้ในหลายมิติ เช่น การแสดงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวในทางวัฒนธรรม หรือการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาทางการค้า หรือเป็นความสัมพันธ์เชิงลบ เช่น การต่อสู้ระหว่างรัฐเอเธนส์กับรัฐสปาร์ต้า หรือการต่อสู้ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น
2. ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐชาติ (Non-State Actors)
รัฐบาลของรัฐชาติอาจถือว่าเป็นตัวแสดงที่สำคัญที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลทั้งหลายก็อยู่ภายใต้เงื่อนไข แรงกดดัน หรืออิทธิพลที่เป็นผลมาจากตัวแสดงอื่นๆ ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐชาติเหล่านี้สามารถจัดแบ่งออกได้หลายประเภท ดังนี้
ประเภทแรก ตัวแสดงต่ำกว่ารัฐชาติ (Sub-state Actors) คือ กลุ่มผลประโยชน์ภายในรัฐชาติที่มีอำนาจครอบงำหรืออิทธิพลต่อนโยบายการต่างประเทศของรัฐ ตัวอย่างของตัวแสดงต่ำกว่ารัฐชาติเหล่านี้ เช่น อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมยาสูบของสหรัฐอเมริกามีความเชื่อมโยงกับนโยบายการต่างประเทศทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอย่างเด่นชัด ตัวอย่างนโยบายดังกล่าว เช่น นโยบายลดการนำเข้าสินค้าของคู่แข่งขัน และส่งเสริมการส่งออกรถยนต์และบุหรี่ไปยังต่างประเทศ ซึ่งตัวแสดงเหล่านี้จะเคลื่อนไหวเพื่อครอบงำนโยบายต่างๆ ผ่านคณะกรรมการดำเนินการทางการเมือง หรือการล็อบบี้ หรือวิธีการอื่นๆ ตัวอย่างที่คล้ายๆ กัน คือ ชุมชนชาวกรีก-อเมริกันให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการดำเนินการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรีกและตุรกีเหนือดินแดนบางส่วนบนเกาะของไซปรัส หรือชาวนาในยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกาได้จัดตั้งกลุ่มการเมืองของตน และมีตัวแทนของกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างสูงในคณะผู้แทนทางการค้าของรัฐบาล เพื่อเจรจาต่อรองการค้าทางเกษตรระหว่างประเทศ
การแสดงออกของตัวแสดงระดับต่ำกว่ารัฐชาติทางเศรษฐกิจ เช่น บริษัท ผู้บริโภค แรงงาน นักลงทุน จะช่วยสร้างสรรค์รูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะปรากฏขึ้นบนเวทีโลก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปัจจุบันนี้อาศัยการเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายการสื่อสารที่แพร่หลายทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ การผลิตและบริโภคสินค้าต่างๆ หรือแม้กระทั่งการซื้อขายสินค้าและบริการ ล้วนถูกแทนที่ด้วยตัวแสดงประเภทนี้ทั้งสิ้น
ประเภทที่สองถือ ตัวแสดงข้ามชาติ (Transnational Actors) ได้แก่ ตัวแสดงต่ำกว่ารัฐชาติที่ดำเนินกิจกรรมต่างจากดินแดนหนึ่งไปยังอีกดินแดนหนึ่ง เช่น ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการซื้อ การขาย หรือการลงทุนในประเทศต่างๆ การตัดสินใจดำเนินการทางธุรกิจของตัวแสดงนี้สามารถปรับเปลี่ยนบริบทของการตัดสินใจระหว่างรัฐบาลทั้งสองได้ (Alger, 1990, p. 493-518) ตัวแสดงสำคัญของตัวแสดงข้ามชาติ ได้แก่ Multinational Corporations (MNCs) หรือบรรษัทข้ามชาติ ความสนใจของบรรษัทขนาดใหญ่เหล่านี้คือ การดำเนินธุรกิจระดับโลก ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัฐชาติก็เป็นได้ เช่น เมื่อปี ค.ศ. 1995 บริษัทโคโนโค่ (Conoco) ซึ่งทำธุรกิจด้านขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐอเมริกาลงนามมูลค่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำมันดิบของอิหร่าน ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกากำลังพยายามดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวประเทศอิหร่าน บ่อยครั้งที่บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ควบคุมแหล่งทรัพยากร และดำเนินธุรกิจจนได้ผลประโยชน์มากกว่าที่รัฐชาติเล็กๆ รวมกัน
ตัวแสดงข้ามชาติยังประกอบด้วยตัวแสดงอีกประเภทที่เรียกว่า องค์การที่ไม่ใช่รัฐ (The Non-Governmental Organizations: NGOs) องค์การเอกชนเหล่านี้มีบทบาทเพิ่มขึ้นทุกวันในสังคมชุมชนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวทีขององค์การสหประชาชาติ หรือเวทีอื่นๆ เนื่องจากเป็นตัวแสดงที่ชอบธรรมเช่นเดียวกับตัวแสดงรัฐชาติ แม้อาจจะไม่เท่าเทียมกันก็ตาม ตัวอย่างของ NGOs เช่น Catholic Church, Greenpeace, the International Olympic Committee (IOC) บางองค์การของกลุ่มอาจจะมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง บางองค์การอาจมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับมนุษยชาติ บาองค์การงอาจมีวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น NGOs จึงไม่มีรูปแบบเฉพาะที่ตายตัวแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง หรือผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ประเภทสุดท้ายของตัวแบบข้ามชาติ คือ องค์การระหว่างรัฐ (The Inter-Governmental Organizations: IGOs) องค์การประเภทนี้มักจะมีรัฐบาลของรัฐชาติเป็นสมาชิก องค์การสหประชาชาติ (The United Nation: UN) และหน่วยงานของ UN ก็ถือเป็น IGOs ด้วย หรือแม้แต่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของโลกอย่างเช่น ธนาคารโลก (The World Bank) หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (The International Monetary Fund: IMF) ก็เป็น IGOs เช่นกัน IGOs มีหน้าที่อย่างหลากหลาย และอาจมีรัฐชาติเป็นสมาชิกจำนวนน้อยจนถึงอาจมีรัฐชาติเป็นสมาชิกเกือบทั่วโลกอย่างเช่นสมาชิกของ UN
ตัวอย่างเช่น องค์การชาติส่งออกน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก (The Organization of Petroleum Exporting Countries: OPEC) เป็นหน่วยงานร่วมมือระหว่างรัฐชาติที่กำหนดการผลิตและราคาน้ำมัน ประกอบด้วย 12 ชาติสมาชิก หรือองค์การการค้าโลก (The World Trade Organization: WTO) เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการค้าของโลก หน่วยงาน IGOs ด้านการทหารก็เช่น NATO หรือการรวมกลุ่มทางสังคมอย่างเช่น สันนิบาตอาหรับ (The Arab League) สังคมชุมชนระหว่างประเทศมี IGOs หลายร้อยองค์การ และองค์การเหล่านี้กำเนิดขึ้นจากชาติสมาชิกที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันไป กล่าวอีกนัยหนึ่งทั้ง IGOs และ NGOs นั้นอาจเรียกง่ายๆ ว่า องค์การระหว่างประเทศ (The International Organizations: IOs)
เวทีโลกที่มีการเชื่อมโยงอย่างซับซ้อนทั้งตัวแสดงต่ำกว่ารัฐ, ตัวแสดงข้ามชาติ และตัวแสดงรัฐชาติยังคงมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก และจะได้กล่าวเพิ่มเติมอีกในบทต่อๆ ไป
ระดับการวิเคราะห์
หากจะอธิบายเหตุการณ์ที่ปรากฏในสังคมชุมชนระหว่างประเทศที่ซับซ้อนให้สมบูรณ์ครบถ้วนก็มักจะเชื่อมโยงกับตัวแสดงจำนวนมาก แนวทางหนึ่งของนักวิชาการด้านรัฐศาตร์ เดวิด เจ ซิงเกอร์ (David J. Singer) กล่าวไว้ใน World Politics ได้จัดประเภทของตัวแสดงว่าสามารถแบ่งย่อยออกเป็นระดับ ได้ 3 ระดับ (Singer, 1961, pp.77-92) ดังนี้
ระดับย่อยสุดได้แก่ ระดับบุคคล (Individual Level) มีเรื่องที่น่าสนใจและมีผลต่อตัวแสดงระดับบุคคล เช่น การรับรู้ส่วนบุคคล การกระทำของปัจเจกบุคคล ทางเลือกของปัจเจกบุคคล บุคลิกลักษณะส่วนตัวของผู้นำรัฐชาติ อิทธิพลทางประวัติศาสตร์ต่อพลเมือง นักวิชาการ นักการทหาร หรือ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง เรื่องราวเหล่านี้อาจส่งผลต่อสังคมชุมชนระหว่างประเทศได้ทั้งสิ้น ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีการลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุค เฟอร์ดินานด์ (Archduke Ferdinand) สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก็อาจจะไม่อุบัติขึ้น” หรือ “หากปราศจากคนชื่อ เลนิน (Lenin) ก็จะไม่มีสหภาพโซเวียต” หรือ “หากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1960 ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) มากกว่าจอห์น เจฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) วิกฤติการณ์คิวบา อาจมีผลลัพธ์ที่ต่างออกไปจากที่ปรากฏก็เป็นได้” ดังนั้น การวิเคราะห์ระดับบุคคลนี้ จะศึกษาเป็นพิเศษต่ออีกครั้งในเรื่องการนโยบายต่างประเทศ เพราะปัจจัยทางด้านจิตวิทยามีส่วนสำคัญมากต่อการตัดสินใจในนโยบายต่างประเทศ
ระดับภายในประเทศ (Domestic, Society or State Level) การศึกษาวิเคราะห์ตัวแสดงระดับนี้ให้ความสนใจต่อการรวมตัวของปัจเจกบุคคลภายในรัฐชาติซึ่งมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของรัฐชาติในปริมณฑลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การรวมตัวของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มองค์การทางสังคม และกลุ่มของหน่วยงานรัฐ ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติที่ต่างๆ กัน ตัวอย่างเช่น การสร้างความเป็นชาตินิยมภายในรัฐชาติย่อมส่งผลต่อบทบาทของรัฐชาติที่แสดงออกกับสังคมชุมชนระหว่างประเทศ หรือ ภาคเศรษฐกิจภายในรัฐชาติ เช่น อุตสาหกรรมทางการทหารย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายการต่างประเทศและการแสดงออกของรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายระหว่างประเทศมักจะดำเนินการตามแบบแผนทางราชการเดิมๆ มากกว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายแบบก้าวหน้า
ระดับระหว่างรัฐ (Interstate, International or Systemic Level) การวิเคราะห์ตัวแสดงระดับนี้มุ่งประเด็นไปยังระบบระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ที่ปรากฏ หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างนานาชาติโดยปราศจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องภายในรัฐชาติ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้นำ หรือประชาชน หรือกลุ่มผลประโยชน์ภายใน นอกจากนี้ยังให้ความสนใจต่อสถานภาพของรัฐชาติที่เกี่ยวโยงกับอำนาจในระบบระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน การวิเคราะห์ตัวแสดงระดับนี้นับวันยิ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การเจรจาเพื่อความร่วมมือกันหลายฝ่าย (Multilateral) ตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักกันดีขณะนี้ คือ การเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ หรือความร่วมมือรูปแบบอื่น เช่น ความร่วมมือทางด้านการทหารระหว่างชาติพันธมิตร เพื่อต่อสู้กับฝ่ายอักษะ หรือความร่วมมือทางด้านสังคมเรื่องแรงงานระหว่างประเทศ เช่น การต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก หรือลักษณะของงานอันตรายที่แรงงานเพศหญิง
นอกจากระดับการวิเคราะห์ของซิงเจอร์แล้ว โรเบิร์ต ซี นอร์ธ (Robert C. North) ได้เพิ่มระดับการวิเคราะห์อีก 1 ระดับ คือ ระดับสากลหรือระดับโลก (Global Level) ถือเป็นหน่วยการวิเคราะห์ที่ใหญ่สุด (North, 1990, pp. 12-14) หากพิจารณาประวัติศาสตร์โลกแล้ว การวิเคราะห์ระดับสากลสามารถอธิบายเหตุการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 1500 - 2000 ที่จักรวรรดิต่างๆ ของยุโรปได้มีอิทธิพลครอบงำสังคมโลกจากการใช้กำลังเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ ทั่วโลกก็ชัดเจน นอกจากนี้องค์การสากล เช่น องค์การสหประชาชาติที่รับหน้าที่เป็นตัวกลาง (Mediator) ในหน้าที่ต่างๆ ที่ถูกมอบหมายให้ปฏิบัติจากความเห็นของประชาคมโลก ก็สามารถที่จะอธิบายด้วยหลักการนี้เช่นกัน นอกจากนี้หากจะอธิบายปรากฏการณ์ของสังคมชุมชนระหว่างประเทศให้เหมาะสมกับยุคสมัยแล้ว การวิเคราะห์ที่เหมาะสมควรจะมองผ่านกระบวนการระดับโลกแล้ว เนื่องจากทุกวันนี้มนุษย์มีวิวัฒนาการและการพัฒนาสังคมเป็นความเชื่อระดับโลก (worldwide belief) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงสนใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และธุรกิจที่มีลักษณะแพร่หลายทั่วโลก (worldwide) นั่นเอง ปัจจุบันอาจเรียกสังคมโลกปัจจุบันว่า สังคมเวิร์ดไวด์ (worldwide society) ก็ได้
ระดับของตัวแสดงในเวทีโลกเริ่มตั้งแต่ระดับเล็กสุด คือ ระดับบุคคล ตลอดจนถึงระดับโลก ที่เป็นเช่นนี้เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกกลุ่มผลประโยชน์ ทุกรัฐบาล หรือทุกภูมิภาคที่อาศัยอยู่บนเวทีโลก
สรุปท้ายบท
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันมีความซับซ้อนเชื่อมโยงระหว่างกันในหลากหลายมิติทั้งรูปแบบความร่วมมือและความขัดแย้ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องมีความรู้รอบด้าน และบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องเข้าใจกับระบบของสังคมชุมชนระหว่างประเทศอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เกี่ยวข้องกับศาสตร์หลายสาขา นอกจากนี้ตัวแสดงระดับต่างๆ ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้รูปแบบความสัมพันธ์ยังเชื่อมโยงกับแนวคิดต่างๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย เช่น แนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตามแนวคิดของอุดมคติ หรือการต่อรองผลประโยชน์ของรัฐชาติตามแนวคิดสัจจนิยม ที่จะกล่าวในบทถัดไป
สภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในอดีต ปัจจุบัน รวมทั้งอนาคตเกิดจากฝีมือมนุษย์เป็นสำคัญ ความสำคัญของการศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือเพื่อแสวงหา การบรรลุถึงเป้าหมายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ทั้งในระดับองค์กรจนถึงระดับปัจเจกบุคคล ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลเป็นอย่างไรสะท้อนประชาชนเจ้าของประเทศ หากจะให้รัฐมีสัมพันธ์ต่อกันที่ดีกว่านี้ ต้องแก้ไขที่ตัวประชาชนก่อน
ตอบลบhttp://www.chanchaivision.com/2015/01/Why-Study-IR-150104.html
อยากจะทราบว่าการดำรงอยู่ของIO ในปัจจุบันมีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร
ตอบลบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันตกต่ำมาก
ตอบลบ