บทที่ 2
วิวัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เมื่อกล่าวถึงสหัศตวรรษใหม่นี้จะพบว่ามีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 ที่ถูกครอบงำด้วยสงครามโลกและสงครามเย็น ปัจจุบันสิ่งที่ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัด คือ การรวมตัวของสังคมชุมชนระหว่างประเทศทั้งด้านบวกและด้านลบ หากแต่การเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เกิดแต่โดยลำพัง เหตุการณ์ทั้งหลายมักมีการเชื่อมโยงจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หลักการและโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เช่นกันล้วนเกิดขึ้นมาจากรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยเหมือนกัน สำหรับวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะที่ยาวนาน และสามารถอธิบายได้เป็นช่วงๆ ดังนี้
ยุคอารยธรรมโลก
ระบบระหว่างประเทศ (International System) ปัจจุบันนี้เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารยธรรมตะวันตกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ทวีปยุโรป เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบระหว่างประเทศได้ถูกพัฒนาขึ้นจากความสัมพันธ์ของรัฐชาติในยุโรป เมื่อ 500-300 ปีที่ผ่านมา และถูกส่งผ่านแนวคิดนี้ไปสู่ส่วนต่างๆ ของโลกมาเป็นระยะเวลาหลายศตวรรษจนเกิดเป็นดินแดนต่างๆ ของโลก และเป็นรัฐชาติอธิปไตยในปัจจุบัน และเราทุกคนต้องยอมรับต่อความสำคัญของแนวคิดนี้ที่อารยธรรมตะวันตกสร้างขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องจดจำว่า ก่อนชาวยุโรปจะขยายอำนาจของตนจนเกิดจักรวรรดิต่างๆ นั้น ได้เกิดอารยธรรมต่างๆ ขึ้นอยู่ก่อนแล้วหลายศตวรรษ ซึ่งก็มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน (Asimov, 1991)
รากฐานของอารยธรรมยุโรปมาจากอารยธรรมเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เช่น เมโสโปเต-เมีย อียิปต์ และกรีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารยธรรมกรีกโบราณ ช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาลที่มีความสำคัญมากกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตัวอย่างหลักการพื้นฐานของอำนาจทางการเมืองระหว่างรัฐชาติ เช่น งานเขียนของทูซิดิส (Thucydides) ในเรื่อง The Peloponnesian Wars ระหว่างรัฐเอเธนส์ (Athens) และรัฐสปาร์ตา (Sparta) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของผู้ศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในขณะนั้นรัฐต่างๆ ติดต่อกันด้านการค้า หรือไม่ก็ทำสงครามระหว่างกัน เช่น การครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ตั้งแต่เมดิเตอร์เรเนียนจนถึงประเทศอินเดีย ของยุโรป ตัวอย่างเช่น ชัยชนะของอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander, the Great) ที่พิชิตรัฐชาติทั้งหลายเกิดขึ้นในราว 300 ปีก่อนคริสตกาล หรือภายใต้อำนาจการปกครองของอาณาจักรโรมัน (Roman Empire) ค.ศ. 1 หรือภายใต้การปกครองของอาณาจักรอาหรับ (Arab Empire) ราวปี ค.ศ. 600 เป็นต้น
ประเทศจีนในช่วงเวลาเดียวกับยุคกรีกโบราณ ก็เป็นอารยธรรมที่โดดเด่นเป็นอิสระ ซึ่งมีการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนที่เป็นเอกภาพไม่ขึ้นกับรัฐชาติอื่นเช่นกัน นอกจากนี้ จีนยังได้อาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ ตามที่บรรยายไว้ในงานเขียนโบราณชื่อ “The Art of War” ของซุน จือ (Sun Tzu) รัฐชาติลักษณะนี้อาจเรียกได้อีกชื่อว่า “รัฐแห่งสงคราม” (Warring State) (Sun Tzu, 1963) และเมื่อราว ค.ศ. 800 ขณะที่ยุโรปอยู่ใน “ยุคมืด” แต่อารยธรรมอาหรับกำลังอยู่ในยุคทอง หรือจีนภายใต้ราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty) ก็เป็นยุครุ่งโรจน์ของอารยธรรมที่ไม่ถูกครอบงำจากอำนาจทางตะวันตก ซึ่งขณะนั้นญี่ปุ่นก็กำลังถูกครอบงำจากอารยธรรมจีนอย่างเข้มข้น ต่อมาญี่ปุ่นปกครองโดยตระกูลโตกูกาวา (Tokugawa Shogunate) เป็นเวลาหลายศตวรรษก็โดดเดี่ยวตัวเองจากโลกภายนอก จนกระทั่งหลังปี ค.ศ. 1850 สมัยเมจิ ญี่ปุ่นได้เริ่มติดต่อการค้าขายระหว่างประเทศและเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมอีกครั้ง ช่วงเวลาเดียวกันนี้ อารยธรรมลาตินอเมริกาก็กำลังเบ่งบานและปราศจากการครอบงำของตะวันตกเช่นกัน ดังช่วงปี ค.ศ. 100-900 อารยธรรมมายัน (Mayans) หรือราวปี ค.ศ. 1200 เป็นช่วงรุ่งเรื่องของอารยธรรมเอสเทค (Aztecs) และอารยธรรมอินคา (Incas) จนสเปนรุกรานดินแดนนี้ และได้รับชัยชนะช่วงปี ค.ศ. 1500 สำหรับแอฟริกามีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1000 และพัฒนาเป็นอย่างมากจนเกิดการค้าขายทาสของชาวยุโรปขึ้นปี ค.ศ. 1500
ช่วงค.ศ. 600-1200 อาณาจักรอาหรับได้ทำให้โลกเห็นว่า อาณาจักรอาหรับแสดงบทบาทที่พิเศษเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโลกอาหรับ คือ ดินแดนเกือบทั้งหมดกลายมาเป็นหนึ่งเดียวในอาณาจักรแห่งนี้ ความเจริญรุ่งเรืองและการขยายดินแดนที่เกิดเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม การรุกรานของยุโรปต่อดินแดนอาหรับเกิดขึ้นในช่วงสงครามครูเสด (Crusades) และถูกขับไล่ออกไปในที่สุด ในระหว่างศตวรรษที่ 16-19 ดินแดนเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกก็ได้อยู่ภายใต้การปกครองของชาวเติร์กช์ (Turkish) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออโตมัน (Ottoman Empire) อาณาจักรออตโตมันได้ให้อิสระกับชนเผ่าท้องถิ่นต่างๆ ในการปกครองตนเอง อาณาจักรนี้ยังคงมีอิทธิพลอย่างต่อเนื่องต่อภูมิภาคนี้จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 ตัวอย่างเช่น ในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 Pan-Arabism (Arab Nationalism) เห็นว่า ภูมิภาคสามารถรวมกันเป็นหนึ่งรัฐชาติอีกครั้งด้วยการมีเพียงศาสนาเดียว ภาษาเดียว และมีลักษณะเฉพาะ ในปี ค.ศ. 1991 ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ของอิรักได้พยายามเป็นผู้นำของรัฐอาหรับเพื่อทำสงครามครูเสดเหมือนอย่างที่เคยปรากฏเมื่อพันปีที่ผ่านมา
ยุโรปได้ขึ้นมามีอำนาจครอบงำทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1500 หลังยุคเรอเนซองส์ (Renaissance) รัฐชาติอิตาลีได้กลับมาสร้างอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ ดังเช่นงานเขียนชื่อ The Prince ของแมคเคียเวลลี (Machiavelli) ระบบฟิวดัล (Feudal) ได้ก่อให้เกิดการรวมดินแดนต่างๆ ให้เป็นรัฐชาติขนาดใหญ่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมของผู้นำคนเดียว หรือการปกครองแบบราชาธิปไตย การปฏิวัติของกองทัพในช่วงเวลานี้ทำให้เกิดการจัดระเบียบจนเป็นกองทัพสมัยใหม่ (Howard, 1976) ราชวงศ์ต่างๆ ของยุโรปได้ติดตั้งปืนใหญ่ลงบนเรือ และเริ่มสำรวจโลก พัฒนาการของระบบระหว่างประเทศ, จักรวรรดินิยม, การค้า และสงคราม สิ่งเหล่านี้มีตัวเร่งมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ภายหลังปี ค.ศ. 1750 ชัยชนะของยุโรปนำมาสู่อารยธรรมโลกเพียงหนึ่งเดียวถึงแม้จะมีความแตกต่างของภูมิภาคและวัฒนธรรมต่างๆ (Braudel, 1984)
หลายทศวรรษของประวัติศาสตร์โลกช่วงเวลานี้ ภูมิภาคต่างๆ ของโลกถูกครอบงำอย่างเป็นทางการจากรัฐชาติยุโรป ซึ่งต่อมาได้รับเอกราชและเป็นรัฐชาติอธิปไตยที่มีส่วนร่วมกับระบบระหว่างประเทศ รัฐชาติเอกราชที่เกิดขึ้นในช่วงต้นๆ หรือช่วงปี ค.ศ. 1800 มักจะอยู่อยู่ในทวีปอเมริกา และช่วงศตวรรษที่ 19 รัฐชาติต่างๆ ในลาตินอเมริกาต้องเผชิญกับสงคราม, การเปลี่ยนแปลงพรมแดน, การก้าวขึ้นสู่อำนาจและการลงจากอำนาจของเผด็จการ, ปัญหาหนี้ต่างประเทศที่เรื้อรัง, การปฏิวัติ และการรุกรานทางทหารของกองกำลังยุโรป และการใช้หนี้คืนแก่สหรัฐอเมริกา
ยุคระบบมหาอำนาจ
สำหรับระบบระหว่างประเทศสมัยใหม่นั้น นักรัฐศาสตร์มักใช้จุดเริ่มต้นจาก สนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Treaty of Westphalia) ในปี ค.ศ. 1648 ที่ได้กำหนดหลักการว่าด้วยรัฐเอกราชขึ้นในระบบระหว่างประเทศที่คงยังดำรงต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติทั้งหลายตามสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียจะไม่เกิดขึ้นได้เลย หากเราละเลยหลักการสำคัญ และหัวใจสำคัญของระบบนี้คือ ความสามารถของแต่ละรัฐชาติ และการรวมตัวร่วมกันของรัฐชาติ หรือการพยายามรักษาดุลยภาพของอำนาจรัฐชาติต่างๆ ดังนั้น มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก หากต้องการยึดครองหรือกลืนรัฐชาติที่เล็กกว่าทั้งหลายและสร้างเป็นจักรวรรดิใหม่ขึ้นมาแทนที่
ระบบการรักษาดุลยภาพของอำนาจถูกยอมรับว่ามีความสำคัญอย่างมากอยู่หลายประการ เช่น ความสำคัญต่ออำนาจของรัฐชาติมหาอำนาจ ความสำคัญต่อทัศนคติและผลประโยชน์ของเวทีโลก และความสำคัญต่อความเข้มข้นของปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติกับรัฐชาติ ระบบรัฐชาติมหาอำนาจปรากฏขึ้นมาเมื่อราวปี ค.ศ. 1500 นั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันโครงสร้างและกฎเกณฑ์ทั้งหลายของระบบนั้นยังคงมีเสถียรภาพอยู่พอสมควร แม้อาจมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกไปบางส่วน ทั้งนี้โครงสร้างของดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างรัฐชาติ หรือรูปแบบของการรวมตัวนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น การต่อสู้ในสงคราม, การรักษาสันติภาพ ซึ่งไม่อาจมีรัฐชาติใดเพียงลำพังที่จะชนะรัฐชาติอื่นๆ ได้
รัฐชาติที่มีอำนาจมากที่สุดในศตวรรษที่ 16 คือ บริเตน (อังกฤษ), ฝรั่งเศส, ออสเตรีย-ฮังการี และสเปน สำหรับจักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกี) ยังคงต่อสู้กันอยู่กับมหาอำนาจของยุโรปโดยเฉพาะออสเตรีย-ฮังการี ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ระหว่างจักรวรรดิออตโตมัน (มุสลิม) และออสเตรีย-ฮังการี (คริสเตียน) เป็นสาเหตุของความขัดแย้งด้านศาสนาในประเทศอดีตยูโกสลาเวีย (ยูโกสลาเวียถือเป็นชายขอบของจักรวรรดิออตโตมัน)
ภายในยุโรป ออสเตรีย-ฮังการีและสเปนได้เป็นพันธมิตรภายใต้การควบคุมของตระกูล แฮปสเบิร์ก (Hapsburg Family) ซึ่งเจ้าของดินแดนในเนเธอร์แลนด์ ประชากรของดินแดน แฮปสเบิร์กเป็นชาวคาทอลิคพ่ายแพ้ต่อชาติยุโรปเหนือ ประกอบด้วยฝรั่งเศส, บริเตน, สวีเดน และรัฐชาติที่เพิ่งได้รับเอกราชใหม่จากเนเธอร์แลนด์ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวโปรแตสแตนท์ ในสงครามสามสิบปี (The Thirty Years War of 1618-1648) ปี ค.ศ. 1648 สนธิสัญญาเวสฟาเลียได้จัดตั้งหลักการพื้นฐานสำคัญที่กำหนดระบบระหว่างประเทศขึ้น คือ อำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐชาติเท่าเทียมกัน และเป็นอิสระต่อกันตามระบบระหว่างประเทศ ดังนั้น รัฐชาติที่แพ้สงครามจะต้องยอมเสียดินแดนบางส่วนของตนเองให้กับรัฐชาติที่ชนะสงคราม แต่โดยปกติแล้วรัฐชาติผู้พ่ายแพ้สงครามมักจะได้รับอนุญาตให้เป็นรัฐชาติเอกราชต่อไปดังเดิม (Rabb, 1981)
ศตวรรษที่ 18 อำนาจของอังกฤษได้เพิ่มมากขึ้นตามความเป็นอุตสาหกรรมของอังกฤษ และคู่แข่งขันคนสำคัญของอังกฤษก็คือ ฝรั่งเศส สำหรับสวีเดน ฮอลแลนด์ และอาณาจักรออตโตกำลังหมดอำนาจลง แต่รัสเซียและปรัสเซีย (ซึ่งต่อมากลายเป็นเยอรมนีสมัยใหม่) ได้กลายมาเป็นตัวแสดงสำคัญของยุโรป ในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) ปี ค.ศ. 1803-1815 ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อการร่วมมือกันของอังกฤษ ฮอแลนด์ ออสเตรีย-ฮังการี สเปน รัสเซีย และ ปรัสเซีย การประชุมคองเกรสเวียนนา (The Congress of Vienna) ปี ค.ศ. 1815 หลังจากที่สิ้นสุดสงครามนี้ ได้ยืนยันและย้ำหลักการเกี่ยวกับรัฐชาติอธิปไตย ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อจักรวรรดิฝรั่งเศส (Kissinger, 1973) ในการประชุมความร่วมมือของยุโรป (Concert of Europe) ได้ส่งผลต่อยุโรปอยู่หลายทศววรษเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือระหว่างกันเพื่อป้องกันสงคราม และเป็นที่มาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Security Council) ในปัจจุบันนั่นเอง ช่วงระยะเวลานี้ อังกฤษถือเป็นผู้รักษาดุลยภาพของอำนาจ (Balancer) โดยการเข้าร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหลายต่อต้านรัฐชาติที่กำลังจะเป็นก้าวขึ้นมาเป็นรัฐชาติที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรป
ช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 20 รัฐมหาอำนาจใหม่ 3 รัฐได้ปรากฏขึ้นบนเวทีโลก คือ สหรัฐอเมริกา (กลายมาเป็นรัฐชาติที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ญี่ปุ่นและอิตาลี ระบบมหาอำนาจได้ขยายตัวไปทั่วโลกแทนที่รัฐชาติยุโรป รัฐชาติมหาอำนาจทั้งหลายมักเป็นรัฐชาติอุตสาหกรรม และขยายขอบเขตของกิจกรรมต่างๆ ไปสู่ระดับสากล บางครั้งรวมถึงกิจกรรมทางการทหารด้วย หลักจากปรัสเซียพ่ายแพ้ต่อออสเตรียและฝรั่งเศสในสงคราม ก็ได้ปรากฏเยอรมนีผู้เข้มแข็งมาท้าทายอำนาจและตำแหน่งของอังกฤษ (Langer, 1931) เช่น สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (World War I) ระหว่างปี ค.ศ. 1914-1918 เยอรมนีออสเตรียฮังการีปราชัยต่อการรวมตัวของอังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, อิตาลี และสหรัฐอเมริกา หรืออีก 20 ปีต่อมา เยอรมนี, อิตาลี และญี่ปุ่นได้ปราชัยอีกครั้งในสงครามครั้งที่ 2 ระหว่างปี ค.ศ. 1939-1945 ต่อการร่วมมือกันของสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย (สหภาพโซเวียต) และจีน ซึ่งผู้ชนะทั้ง 5 ได้เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติปัจจุบันนี้
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมกันต่อสู้กับเยอรมนี ได้กลายมาเป็นปฏิปักษ์ต่อกันตลอดเวลา 40 กว่าปีระหว่างยุคสงครามเย็น ขณะนั้นยุโรปถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่ายคือ ยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันตก และเยอรมนีก็ถูกแยกออกเป็น 2 รัฐชาติ นอกจากนี้ภูมิภาคต่างๆ ของโลก แต่ละค่ายได้แข่งขันหาสมาชิกและเขตอิทธิพลของตนเอง หรือการสนับสนุนฝ่ายตรงกันข้ามหรือการสนับสนุนสงครามกลางเมืองกับรัฐชาติที่มีอุดมการณ์ที่ต่างกัน และในราวปี ค.ศ. 1990 การล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำให้สงครามเย็นสิ้นสุดลง เป็นผลทำให้สังคมชมุชนระหว่างประเทศกลับเข้าสู่ระบบระหว่างประเทศที่ทำให้เกิดความร่วมมือมากขึ้นของรัฐชาติมหาอำนาจคล้ายกับ The Concert of Europe ในศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นกับยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นจะไม่เหมือนกับที่ต้องเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียต (Unger, 1993)
ยุคจักรวรรดินิยม
จักรวรรดินิยมยุโรปได้เริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 15 ด้วยการเดินเรือของลูกเรือจำนวนเพียงเล็กน้อยที่สามารถบรรทุกสินค้าจำนวนมากผ่านมหาสมุทรเป็นระยะทางที่ยาวไกล ชาวโปรตุเกสถือเป็นนักบุกเบิกการสำรวจรุ่นแรกของยุโรป โดยมีสเปน, ฝรั่งเศส และอังกฤษตามมาภายหลัง ด้วยเทคโนโลยีทางการทหารที่ก้าวล้ำหน้า รัฐชาติยุโรปต่างได้รับผลประโยชน์จากการควบคุมเมืองชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางเรือ และในเวลาต่อมาการควบคุมได้ขยายเข้าไปสู่ดินแดนภายในทวีปต่างๆ เริ่มต้นจากลาตินอเมริกา สู่อเมริกาเหนือ และเข้ายึดครองแอฟริกาและเอเชียตามลำดับ
ศตวรรษที่ 16 สเปนและโปรตุเกสขยายจักรวรรดิของตนเข้าไปในอเมริกากลางและบราซิล ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสได้มีอาณานิคมในอเมริกาเหนือและแคริเบียน เจ้าอาณานิคมทั้งหลายได้นำทาสในแอฟริกาล่องเรือไปยังเม็กซิโกและบราซิล ซึ่งทาสได้ไปทำงานเพาะปลูกพืชเมืองร้อน และทำงานในเหมืองเงินและเหมืองทองคำ ความมั่งคั่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ถูกส่งกลับไปยังยุโรป และราชวงศ์ต่างๆ ก็ได้ใช้มันสร้างกองทัพและรัฐชาติ
จักรวรรดิเหล่านี้ได้ทำลายล้างชนพื้นเมืองและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้ชนพื้นเมืองต้องทนทุกข์อย่างแสนสาหัส ในเวลาต่อมาเศรษฐกิจของอาณานิคมได้พัฒนาขึ้นจากการสร้างระบบขนส่ง การสื่อสารขั้นพื้นฐาน โรงงาน และอื่นๆ บ่อยครั้งที่ระบบเศรษฐกิจของอาณานิคมถูกกำหนดและเลียนแบบมาจากเจ้าอาณานิคมซึ่งไม่ได้เป็นความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นแต่อย่างใด
การยกเลิกอาณานิคมเริ่มต้นจากอาณานิคมของอังกฤษในสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาได้ประกาศอิสรภาพในปี ค.ศ. 1776 และอีกเพียง 2-3 ทศวรรษ รัฐชาติในลาตินอเมริกาส่วนใหญ่ก็ได้รับอิสรภาพตามมา รัฐชาติที่เกิดขึ้นใหม่ในอเมริกาเหนือและลาตินอเมริกายังคงดำเนินระบบเศรษฐกิจแบบจักรวรรดินิยม ซึ่งชาวอเมริกันพื้นเมืองและทาสแอฟริกายังคงด้อยโอกาสและเสียเปรียบต่อไป
ในปลายศตวรรษที่ 19 อาณานิคมใหม่ๆ ยังคงเป็นที่ต้องการรัฐชาติยุโรป จุดสูงสุดของการแย่งชิงอาณานิคมในทวีปแอฟริกาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1890 สำหรับเยอรมนี และอิตาลีถือเป็นรัฐชาติที่เข้าสู่การล่านิคมลำดับท้ายๆ จึงทำให้ดินแดนที่น่าดึงดูดและน่าสนใจของโลกเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับรัฐชาติทั้งสองเพื่อสร้างอาณานิคมของตนในดินแดนโพ้นทะเลเกิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศอินเดียถือเป็นอาณานิคมที่สำคัญมากต่อจักรรวรรดิอังกฤษ ส่วนการขยายอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษนั้น เริ่มตั้งแต่แอฟริกา เอเชียใต้ ออสเตรเลีย จนถึงแคนาดา ได้มีวลีที่กล่าวถึงจักรวรรดิอังกฤษว่า “ไม่มีพระอาทิตย์อัสดงในจักรวรรดิอังกฤษ” (“The sun never sets on the British Empire.”) อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาดังกล่าว โลกเหลือดินแดนต่างๆ อยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ยังคงมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง และไม่ตกเป็นอาณานิคมของยุโรป เช่น ญี่ปุ่น จีน อิหร่าน ตรุกี เป็นต้น ญี่ปุ่นเองได้สร้างจักรวรรดิของตนขึ้นมาเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา และช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้เกิดความอ่อนแอขึ้นกับจีนส่งผลให้ดินแดนตามชายฝั่งทะเลของจีนต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐชาติมหาอำนาจของยุโรปหลายรัฐชาติอย่างไม่เป็นทางการ
กระแสการเรียกร้องเอกราชของอาณานิคมเกิดภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชัยชนะของชนพื้นเมืองในทวีปเอเชีย และทวีปแอฟริกาได้นำไปสู่รัฐชาติเอกราช การเรียกร้องเอกราชได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงกลางทศวรรษที่ 1970 อาณานิคมของยุโรปแทบไม่เหลืออยู่อีกต่อไป ส่วนใหญ่ของรัฐชาติที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งหลายต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายและความยากลำบากที่ใหญ่หลวงหลายประการในยุคหลังอาณานิคม แม้รัฐชาติจะมีความเป็นอิสระปราศจากการครอบงำก็ตาม แต่ระบบเศรษฐกิจของรัฐชาติเหล่านี้ได้ถือกำเนิดตามรูปแบบของเจ้าอาณานิคมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จนอาจกล่าวได้ว่ายุคหลังอาณานิคมนี้กำลังก้าวไปสู่ยุคอาณานิคมใหม่ (Neo Colonial) แม้โลกฝ่ายเหนือจะไม่ต้องการทาสจากโลกฝ่ายใต้อีกต่อไป แต่มันก็ยังคงมีความต้องการแรงงานราคาถูก พลังงาน สินแร่ และผลผลิตทางเกษตรของโลกฝ่ายใต้ต่อไป ในทางกลับกัน โลกฝ่ายเหนือได้ให้การช่วยเหลือกับโลกฝ่ายใต้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การลงทุน การถ่ายโอนเทคโนโลยี และความช่วยเหลือต่างประเทศ
รัสเซียกลับไปมีขนาดของพื้นที่เท่ากับสมัยตอนต้นของศตวรรษ จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและค่ายโลกคอมมิวนิสต์ภายใต้กระแสการเรียกร้องเอกราชและความต้องการตัดสินใจด้วยตนเองภายในรัฐชาติ ทั้งนี้จักรวรรดินิยมได้ทิ้งความขัดแย้งทางศาสนา และแนวคิดทางการเมืองจนนำไปสู่การแยกดินแดน
ยุคชาตินิยม
ผู้คนจำนวนมากที่กล่าวถึงลักษณะของชาตินิยมที่มักให้คำนึงถึงผลโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ ว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุดต่อการเมืองโลกในช่วงเวลา 2 ศตวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงคำว่า “ชาติ” (nations) นั้นมีผู้ให้ความหมายว่า เป็นเรื่องประชากรที่มีลักษณะเฉพาะร่วมกัน รวมถึงภาษาและวัฒนธรรมด้วย ตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่จำนวน 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส จะพูดภาษาฝรั่งเศส รับประทานอาหารฝรั่งเศส เรียนประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสในโรงเรียน แต่สำหรับคำว่า “สัญชาติ” (nationality) มันค่อนข้างยากที่จะอธิบายความหมายของมันได้อย่างเที่ยงตรงนัก ตัวอย่างความหมายของมัน เช่น การขยายตัวความเป็นสังคมเพื่อควบคุมพื้นที่ต่างๆ ของรัฐ เช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศสได้ทำให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้สึกถึงความเป็นฝรั่งเศส ลักษณะแบบนี้ถือว่า “รัฐสร้างชาติ” (States created Nations) ขณะเดียวกัน บ่อยครั้งที่ความรับรู้ถึงตวามเป็นชนชาตินำไปสู่ความเป็นรัฐ หรือชัยชนะของประชาชนนำมาซึ่งอธิปไตยของรัฐที่ดำเนินการตามความต้องของตนเอง หากมีลักษณะเช่นนี้ เราจะเรียกว่า “ชาติสร้างรัฐ” (Nations created States)
ราวปี ค.ศ. 1500 หลายประเทศเช่น ฝรั่งเศส และออสเตรีย เริ่มนำชนชาติทั้งหมดร่วมกันสร้างรัฐเดี่ยวขึ้นมา และรัฐชาติใหม่ทั้งหลายนี้มีอาณาเขตและมีอำนาจเป็นอย่างมาก บางครั้งรัฐชาติเหล่านี้ก็รุกรานรัฐชาติเพื่อนบ้านที่เล็กกว่า และบ่อยครั้งที่รัฐชาติเล็กๆ ทั้งหลายได้รับความปราชัยจนถูกรวบรวมดินแดนไปเป็นรัฐชาติใหม่ (Tilly, 1990) สุดท้ายความคิดเกี่ยวกับความเป็นชาตินิยมได้ทำให้เกิดพลังอำนาจ และมีส่วนอย่างมากกับกับการแตกสลายรัฐชาติขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับ ออสเตรีย-ฮังการี (ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) สหภาพโซเวียต และยูโกสลาเวีย
หลักการตัดสินใจด้วยตนเอง (Self-determination) หลักการดังกล่าวนี้ ประชาชนที่มีลักษณะคล้ายกันถือเป็นชาตินั้น ควรมีสิทธิกำหนดรูปแบบของรัฐ และใช้อำนาจอธิปไตยในกิจการต่างๆ ของตน หลักการตัดสินใจด้วยตนเองถูกยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในกิจการระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางทุกวัน แต่มันก็ถือเป็นหลักการที่รองมาจากหลักอำนาจอธิปไตย ซึ่ง การก้าวก่ายในกิจการภายในของรัฐชาติอื่นๆ ไม่สามารถกระทำได้ และหลักบูรณภาพแห่งดินแดนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอยู่เนื่องๆ แต่การตัดสินใจด้วยตนเองไม่ได้ให้สิทธิกับกลุ่มต่างๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงเขตแดนของตนเอง แต่มันก็เคยได้เกิดขึ้นอย่างตามอำเภอใจยุคล่าอาณานิคมก็ตาม การรวมเป็นหนึ่งของกลุ่มๆ ต่างที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน โดยทั่วไป การตัดสินใจด้วยตนเองอาจนำไปสู่ความรุนแรง เมื่อเขตแดนที่เกิดขึ้นจากความรับรู้ของชนในชาติแตกต่างจากเขตแดนที่เป็นอยู่ของรัฐชาติความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นทันที ทุกวันนี้ความขัดแย้งเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางใน ไอร์แลนด์เหนือ (North Ireland) คิวเบค (Quebec) อิสราเอล-ปาเลสไตน์ (Israel-Palestine) อินเดีย-ปากีสถาน (India-Pakistan) ศรีลังกา (Sri Lanka) ทิเบต (Tibet) และอีกหลายพื้นที่ (Carment, 1997)
เนเธอร์แลนด์ได้ช่วยให้เกิดหลักการของการตัดสินใจด้วยตนเอง เมื่อเนเธอร์แลนด์เป็นอิสระจากสเปนเมื่อราว ค.ศ. 1600 และจัดตั้งการปกครองตนเองของสาธารณรัฐดัช (Dutch Republic) การแย่งชิงอำนาจการควบคุมเนเธอร์แลนด์ได้นำไปสู่สาเหตุของการเกิดสงครามสามสิบปี (The Thirty Years’ War, 1618-1648) สงครามครั้งนี้ทำให้รัฐชาติต่างๆ มีการระดมประชาชนของตนเพื่อการสงครามนี้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน เช่น สวีเดนใช้หลักเกณฑ์การหาคนเข้าเป็นทหาร โดยกำหนดทุกๆ สิบคบต้องมีคนเป็นทหารหนึ่งคน หรือเนเธอร์แลนด์ได้อาศัยเงินที่เกิดจากความมั่งคั่งจากการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างกองทหารอาชีพขึ้น
กระบวนการการเคลื่อนไหวของประชาชนนี้ได้เกิดความยิ่งใหญ่ขึ้น เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) และสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) เมื่อฝรั่งเศสจัดตั้งหลักการทั่วไปและคำสั่งทางเศรษฐกิจจากส่วนกลาง ประชาชนเหล่านี้มีส่วนร่วมในภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้รักและห่วงแหนชาติ ฝรั่งเศสได้ทำให้ความฝันของประชาชนทั้งหลายกลายเป็นความจริง และรวมสิ่งเหล่านี้เข้าเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ
เช่นเดียวกันสหรัฐอเมริกาได้เห็นตัวอย่างจากเนเธอร์แลนด์ และได้ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1776 และชนชาติอเมริกันได้ร่วมมือกันต่อสู้ในสงครามกลางเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1860 อีกทั้งช่วยกันพัฒนาความเข้มแข็งด้านความรู้สึกของความเป็นชาตินิยม และพิจาณาว่าจะทำอย่างไรกับดินแดนที่กว้างใหญ่และความหลากหลายที่ประเทศเกิดกับนี้ รัฐชาติต่างๆ ในลาตินอเมริกาซึ่งได้รับเอกราชช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 ก็เป็นเช่นเดียวกับอเมริกา นอกจากนี้ เยอรมนีและอิตาลีได้รวบรวมความหลากหลายของสังคม เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวโดยผ่านสงคราม
ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรรมกรจากประเทศสังคมนิยมต่างๆ ในยุโรปได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของกรรมกร แต่เมื่อสงครามอุบัติขึ้นพวกเขาเหล่านี้ได้ละทิ้งเรื่องราวดังกล่าว และกลับต่อสู้เพื่อรัฐชาติของตนเอง ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ชาตินิยมเป็นพลังอำนาจที่เข้มแข็งกว่าสังคมนิยม (Socialism) ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ความเป็นชาตินิยมช่วยให้เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นสร้างสังคมที่มีพื้นฐานมาจาก “ลัทธิฟาซิส” (Fascism) ที่ผู้นำมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายใต้การเชื่อว่าชนชาติของตนดีที่สุด ความรักและหวงแหนชาติ (Patriotism) รวมทั้งชาตินิยม ทำให้ชาวรัสเซียรวมตัวกันจำนวนหลายล้านคน เพื่อต่อต้านการรุกรานของเยอรมนี
ระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา รัฐชาติในโลกที่ 3 จำนวนมากได้เอกราชและความเป็นรัฐ ชาวยิว (Jews) ดำเนินการในช่วงเวลาครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เพื่อสร้างรัฐชาติอิสราเอลขึ้นมา และชาวปาเลสไตน์ (Palestinians) ได้ใช้เวลาช่วงครึ่งหลังของศตวรรษดังกล่าวเพื่อสร้างรัฐชาติปาเลสไตน์เช่นกัน ในขณะที่รัฐหลายชาติ (Multinational States) เช่น สหภาพโซเวียต ยูโกสลาเวีย ได้ถูกแยกออกเป็นหลายรัฐชาติในภายหลังตามการนับถือศาสนาและภูมิประเทศ เช่น ยูเครน (Ukraine) และ สโลเวเนีย (Slovenia) ได้สถาปนาขึ้นเป็นรัฐชาติเอกราช ชาตินิยมยังคงมีอิทธิพลอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ และยิ่งไปกว่านั้น มันยังคงเป็นปัจจัยหลักในสงครามและความขัดแย้งของเวทีโลก
เอกลักษณ์เฉพาะของชาติสามารถสร้างความมั่นคงกับจิตใจต่อความเป็นชาตินิยมได้ เช่น ธงประจำชาติ ตัวอย่างเช่น พิธีการสาบานตนต่อธงประจำชาติของสหรัฐอเมริกา ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกต่อความเป็นส่วนหนึ่งของชาติและรัฐบาลของตน ในความเป็นจริง ประชาชนทั่วๆ ไปล้วนแต่มีลักษณะเฉพาะหลายประการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวงจรชีวิตของแต่ละคน เช่น ครอบครัว เมืองที่อาศัย กลุ่มทางศาสนา รัฐชาติ เป็นต้น ความเป็นชาตินิยมจะก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้ ถ้าทำให้เอกลักษณ์ของชาติเป็นส่วนหนึ่งของประชากรโลกที่นำไปปฏิบัติต่อๆ กัน
ชาตินิยมสามารถควบคุมพลังของประชากรส่วนใหญ่ด้วยความรักชาติที่พวกเขามีต่อชาติ ความรู้สึกว่า “เราคือประชาชน” (We the People) มันจะคงอยู่ต่อไปได้ยาก ถ้าประชาชนรู้สึกว่าถูกกีดกันหรือไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง การมีส่วนร่วมนี้มีความสำคัญอย่างมาก แม้เป็นรัฐบาลเผด็จการก็ยังทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมโดยผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีผู้สมัครเพียงคนเดียว หรือพรรคการเมืองเดียวเท่านั้น สำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตยสามารถที่จะใช้อำนาจเพื่อให้เกิดสันติภาพ หรือจำกัดอำนาจผู้นำของรัฐชาติที่จะนำรัฐชาติไปสู่สงคราม แต่อำนาจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของตนอาจเพิ่มความขัดแย้งต่อชาติอื่นก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความตึงเครียดเกี่ยวกับศาสนา
เมื่อเวลาผ่านไป ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมได้ขยายวงกว้างออกไปสู่ประชาชน และประเทศต่างๆ แนวโน้มของประชาธิปไตยภายหน้ายังคงดำเนินต่อไปในลักษณะคล้ายที่เป็นผ่านมาหลายปี ทั้งในยุโรปตะวันออก แอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย ทั้งชาตินิยมและประชาธิปไตยยังคงมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ และมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างยิ่ง
ยุคเศรษฐกิจโลก
ในปี ค.ศ. 1750 ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม อังกฤษถือเป็นรัฐชาติที่มีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้ามากที่สุดของโลก ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเท่ากับ 1,200 เหรียญสหรัฐ และนั้นเป็นรายได้ที่น้อยกว่ารัฐชาติฝ่ายใต้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้อังกฤษมีรายได้ต่อคนมากกว่าสิบเท่า ทั้งที่มีประชากรมากกว่าปี ค.ศ.1750 ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการเป็นอุตสาหกรรม ที่ทำให้การขยายตัวและความหน้าทางเศรษฐกิจ (Tracy, 1991) การเป็นอุตสาหกรรม คือ การใช้พลังงานขับเคลื่อนเครื่องจักร และการสะสมชนิดของเครื่องจักรที่สามารถผลิตสินค้าต่างๆ ได้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นกระบวนการที่มีการวิเคราะห์ระดับโลก เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 ที่ประเทศอังกฤษด้วยการประดิษฐ์เครื่องจักรกลไอน้ำ ปี ค.ศ. 1769 และทำให้อังกฤษเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก
ปี ค.ศ. 1850 เรือไม้ถูกแทนที่ด้วยเรือโลหะจักรกลไอน้ำที่ใหญ่กว่าและเร็วกว่าโดยมีพลังงานจากถ่านหิน เครื่องจักรกลไอน้ำได้ขับเคลื่อนการผลิตในโรงงานทอผ้าและโรงงานผลิตสินค้าอื่นๆ และยังทำให้เกิดยุคของการทางสร้างรถไฟ การพัฒนาที่ได้เกิดนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของปริมาณสินค้าและการค้าขายของโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถานที่ต่างๆ ใกล้กันมากยิ่งขึ้น และมีเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน เช่น การเดินทางข้ามฝรั่งเศสโดยรถไฟมีความแตกต่างจากร้อยปีที่ผ่านมาที่ต้องใช้เวลานานถึงสามสัปดาห์ อย่างไรก็ตามการทำงานในโรงงานกับเครื่องจักรกลเหล่านี้ ระหว่างการทำงานของเครื่องจักรจะเกิดเสียงดังและผลเสียอื่นๆ เป็นอย่างมากโดยเฉพาะกับเด็กและผู้หญิง
ช่วงเวลานี้ อังกฤษได้ครอบงำการค้าโลก เนื่องจากเศรษฐกิจของอังกฤษมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุดของโลก ผลผลิตของมันสามารถแข่งขันได้ทั่วโลก ดังนั้นนโยบายของอังกฤษในช่วงเวลาดังกล่าว คือ การค้าเสรี (Free Trade) อีกบทบาทหนึ่งของอังกฤษกับการค้าโลกช่วงศตวรรษที่ 19 อังกฤษถือเป็นเมืองหลวงทางการเงินของโลก ดูแลและบริหารจัดการทั้งสินค้าและบริการที่มีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นในตลาดโลก สกุลเงินของอังกฤษหรือเงินปอนด์ (Pound) กลายเป็นมาตรฐานโลก การเงินระหว่างประเทศยังคงมีฐานผูกพันกับโลหะที่มีค่า เช่น ทองคำ และเงิน
เมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้ามากที่สุด ไม่ใช่อังกฤษอีกต่อไปหากแต่เป็นสหรัฐอเมริกา การเป็นอุตสาหกรรมของระบบเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาได้รับพลังจากการขยายดินแดนช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมหาศาล เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นที่ดึงดูดแรงงานต่างด้าวจำนวนมากจากยุโรป การเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกของสหรัฐอเมริกา เกิดจากการเปลี่ยนพลังงานจากถ่านหินมาใช้น้ำมัน และเปลี่ยนจากรถม้ามาใช้รถยนต์ นวัตกรรมใหม่ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าจนถึงเครื่องบิน ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาสามารถครอบงำโลกได้ ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์ หลอดไฟฟ้า สองสิ่งนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายทศวรรษที่ 1870
ในปี ค.ศ. 1930 เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการป้องกันทางการค้าฮาวเล่ย์-สมูท (The Protectionist Hawley-Smoot Act) ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับหลักภาษีว่าด้วยการนำเข้าสินค้า การให้ความช่วยเหลือต่อความรุนแรงของวิกฤติการณ์ที่เกิดจากการค้าโลกลดลง หลักการที่นำมาใช้ในการปฏิบัติ คือ หลักเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ (Keynesian Economics) รัฐบาลของสหรัฐอเมริกากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยใช้งบประมาณแบบขาดดุล เพื่อทำให้เกิดการหมุนเวียนและเกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ บทบาทของรัฐบาลในทางเศรษฐกิจเข้มข้นมากระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจโลกทุนนิยมถูกพลิกฟื้นภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา สถาบันที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยจำนวนมหาศาลต่อเศรษฐกิจยุโรปตะวันตกผ่านแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็เช่นกัน เนื่องจากการค้าโลกมีการขยายตัว และการตลาดโลกถูกทักทอเข้าหากันด้วยการขนส่งทางอากาศและโทรคมนาคม และในศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอิเลคโทรนิคส์กลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น และมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคนี้
นอกเหนือจากเศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยมแล้ว ช่วงเวลาหลายปีภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ยังปรากฏระบบเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ที่ได้นำหลักการของคอมมิวนิสต์มาประยุกต์ใช้โดยยึดหลักการวางแผนจากส่วนกลางและรัฐเป็นเจ้าของธุรกิจ เศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตโดดเด่นและประสบความสำเร็จอย่างมากในการเป็นประเทศอุตสาหกรรมช่วงทศวรรษที่ 1930 การรอดพ้นจากการโจมตีของเยอรมนีช่วงทศวรรษที่ 1940 และการพัฒนาโครงการอวกาศ และศักยภาพในการผลิตยุทธภัณฑ์ช่วงทศวรรษที่ 1950 และทศวรรษที่ 1960 สหภาพโซเวียตได้ปล่อยดาวเทียมสปุตนิค (Sputnik) ดาวเทียมดวงแรกของโลกในปี ค.ศ. 1957 และในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1960 ก็เป็นผู้นำระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์พุ่งทะยานเหนือกว่าระบบทุนนิยมหลายสิบปี แต่ระบบเศรษฐกิจของค่ายสหภาพโซเวียตกลับซบเซาลงภายใต้ระบบราชการ ความเข้มงวดทางอุดมการณ์ การทำลายสิ่งแวดล้อม การคอร์รับชั่น และการใช้จ่ายทางการทหารจำนวนมาก และในทศวรรษที่ 1990 สหภาพโซเวียตและรัฐชาติยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่พยายามปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจเป็นทุนนิยมแบบตลาด
สำหรับระบบเศรษฐกิจของโลกวันนี้ ได้ถูกรวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียวแทบจะไม่มีประเทศใดสามารถต้านทานการรวมกันได้ ขณะเดียวกัน ความไม่สมบูรณ์และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกยังปรากฏหลักฐานให้เห็นในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งโจมตีที่รัสเซีย และยุโรปตะวันออก แล้วส่งผลกระทบมายังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แลยุโรปตะวันตก และวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจช่วงทศวรรษ 2000 ที่เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา
ยุคสงครามโลก
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1914 – 1918) และสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945) อุบัติขึ้นเป็นระยะเวลา 10 ปีของศตวรรษที่ 20 ได้เป็นตัวกำหนดโครงร่างสำคัญของศตวรรษดังกล่าวอย่างที่ไม่เคยมีสงครามใดกระทำได้มาก่อน และสิ่งที่หลงเหลือได้เป็นกุญแจสำคัญต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ สงครามทั้งสองครั้งนี้ปรากฏขึ้นทั่วโลก และความยิ่งใหญ่ของมันทำให้รัฐชาติสำคัญๆ ทั้งหลายต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงอำนาจที่จะเกิดขึ้นในระบบระหว่างประเทศในอนาคต (Dockrill, 1991) สำหรับผู้คนจำนวนมากที่เห็นว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของความน่าเศร้าสลดใจที่ไร้เหตุผลของสงคราม แต่มีนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้จินตนาการว่ามันเป็นสงครามที่น่าหวาดกลัวเกินความเป็นจริง เช่นเดียวกับสงครามเย็นที่พวกเขาคิดว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น
สงครามครั้งสำคัญที่เคยปรากฏ เช่น สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ปีค.ศ. 1870-1871 เมื่อเยอรมนีปฏิบัติการโจมตีแบบสายฟ้าแลบโดยอาศัยการใช้รถไฟเข้าสู่แนวรบ สงครามจึงจบลงอย่างรวดเร็วฉับไว ด้วยชัยชนะอย่างขาวสะอาดของเยอรมนี ผู้คนทั่วไปคาดหวังว่า สงครามครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะมีรูปแบบคล้ายกันเช่นนี้ จึงทำให้เหล่ารัฐชาติมหาอำนาจได้วางแผนสร้างโครงข่ายของรถไฟ เพื่อการโจมตีจากแนวหน้าของสมรภูมิด้วยความฉับไวจะได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว และมันถูกเรียกว่า “หลักของการโจมตี” (Cult of Offensive) ภายใต้หลักการดังกล่าวนี้ มีความเชื่อว่า การเคลื่อนพลของประเทศใดประเทศหนึ่งในการทำสงครามกับศัตรูของตนนั้น การโจมตีก่อนจะได้รับชัยชนะ ดังเช่น นักชาตินิยมชาวเซอร์บ (Serbian Nationalist) ได้ลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุค เฟอร์ดินานแห่งออสเตรีย ในปีค.ศ. 1914 ในซาราเจโว (Sarajevo) อีกทั้งการสร้างปัญหาชนกลุ่มน้อยขึ้น และดำเนินแผนการผลักดันรัฐชาติทั้งหมดของยุโรปเข้าสู่สงคราม (Van Evera, 1984: 58-107)
สิ่งที่ไม่คาดฝันของสงครามคือ มันไม่สิ้นสุดลงในระยะเวลาอันสั้นและไม่ฉับไวแต่อย่างใด มันถูกสกัดกั้นด้วยหลุมเพาะในสนามรบตลอดระยะทางของแนวสนามรบ การโจมตีอย่างหนักหน่วงของปืนใหญ่ และการโจมตีด้วยปืนกลจากที่สูง ตัวอย่างเช่น ในปีค.ศ. 1917 สนามรบพาสเชนเดลที่เบลเยี่ยม (Passchendaele) อังกฤษได้ยิงปืนใหญ่จากป้อมปราการเข้าสู่แนวหน้าของสนามรบเป็นระยะทางกว้างถึง 11 ไมล์ด้วยอัตราการยิงปืนใหญ่จำนวนกว่า 5 ตันต่อหนึ่งหลาตลอดเวลา 3 เดือน และมีทหารล้มตายกว่า 4 แสนคนในสมรภูมินี้ อีกทั้งปรากฏความน่าสะพรึงกลัวของการใช้อาวุธเคมี และความอดอยากที่อังกฤษและเยอรมนีกระทำต่อประชาชนของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ยอมแพ้
รัสเซียเป็นรัฐชาติแรกที่ต้องออกจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพราะว่าเกิดการปฏิวัติขึ้นในประเทศของตน ปี ค.ศ. 1917 และนำไปสู่การสถาปนาสหภาพโซเวียต แต่มันก็เป็นการนำสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามครั้งนี้ในฝ่ายต่อต้านเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1919 สนธิสัญญาแวร์ซายล์ (Treaty of Versailles) เยอรมนีถูกบังคับให้ยกดินแดน ค่าปฏิกรรมสงคราม และจำกัดกองกำลังของตนเองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เยอรมนีไม่พอใจกับเนื้อหาของสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฮิตเลอร์ (Hitler) ก้าวขึ้นสู่อำนาจช่วงทศวรรษที่ 1930 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วูดโลว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ได้พยายามก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ขึ้น ซึ่งต่อมากลายเป็นองค์การสหประชาชาติทุกวันนี้ แต่วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาไม่อนุมัติให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์การนี้ สำหรับอเมริกาดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวตนเอง (Isolationism) กับสงครามโลก ซึ่งในขณะนั้นอำนาจของอังกฤษตกต่ำลง และรัสเซียก็ถอนตัวจากสงครามเข้าสู่การปฏิวัติ ทิ้งให้การเมืองโลกเข้าสู่สูญญากาศ
ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เยอรมนีและญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่สูญญากาศของอำนาจ และดำเนินการรุกรานเพื่อขยายอำนาจของตน ซึ่งที่สุดได้นำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้ยึดครองไต้หวัน และเกาหลีหลังจากความปราชัยของจีนในปี ค.ศ. 1895 และรัสเซียในปี ค.ศ. 1905 สำหรับสงครามครั้งที่ 1 นั้น ญี่ปุ่นได้ดินแดนที่เป็นอาณานิคมของเยอรมนีในเอเชีย นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 1931 ญี่ปุ่นได้ยึดแมนจูเรีย (Manchuria) และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นที่นั่น ซึ่งปี ค.ศ. 1937 ญี่ปุ่นได้รุกรานและยึดครองจีนด้วยความโหดร้าย และนำมาสู่ความร้าวลึกของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน ขณะนั้นผู้นำของญี่ปุ่นได้วางแผนการสร้าง “วงศ์ไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา (Co-Prosperity Sphere) ขึ้นเพื่อให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจะได้สามารถควบคุมแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะเดียวกันในยุโรป นาซีเยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ช่วงทศวรรษที่ 1930 ได้กลับมาสร้างความเข้มแข็งของกองทัพ และสนับสนุนช่วยเหลือฟาซิสต์ชนะสงครามกลางในสเปน อีกทั้งควบรวมดินแดนของรัฐชาติเพื่อนบ้านใกล้เคียงกันทั้งหลายภายใต้เหตุผลของการเป็นหนึ่งเดียวของเชื้อชาติเยอรมัน ฮิตเลอร์ได้เรียนรู้ถึงความอ่อนแอของชุมชนระหว่างประเทศและองค์การสันนิบาตชาติจากการถูกรุกรานของสเปนและอิตาลีโดยระบอบฟาซิสต์ อังกฤษตกลงตาม “ข้อตกลงมิวนิค” (Munich Agreement) ปี ค.ศ. 1938 และปล่อยให้เยอรมนียึดครองบางส่วนของเชคโกโลวาเกีย (Czechoslovakia) การเอาใจของอังกฤษต่อเยอรมนีครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินการที่มีนัยเชิงลบในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากข้อตกลงมิวนิคเปรียบเสมือนเป็นการสนับสนุนชัยชนะของฮิตเลอร์เพียงฝ่ายเดียว
ในปี ค.ศ. 1939 เยอรมนีรุกรานเข้าไปในโปแลนด์ (Poland) ทำให้อังกฤษต้องเข้าร่วมในสงครามต่อต้านเยอรมนีเพื่อเป็นการตอบโต้ ฮิตเลอร์ลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานสหภาพโซเวียตภายใต้การปกครองของสตาลิน (Stalin) กองทัพของเยอรมนีทั้งหมดบุกเข้าสู่ฝรั่งเศส และสามารถยึดครองได้อย่างรวดเร็วแตกต่างจากในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การโจมตีอย่างรวดเร็วด้วยรถถังของเยอรมนีประสบความสำเร็จอย่างมากกับการรบครั้งนี้ ในเวลาต่อมาฮิตเลอร์ได้เปิดศึกสองด้าน โดยรุกเข้าไปในสหภาพโซเวียต ปี ค.ศ. 1941 การบุกโจมตีของกองทัพเยอรมนีต้องถูกสกัดและต้องล่าถอยในช่วงหลายปีต่อมา แต่สหภาพโซเวียตก็ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงกับการโจมตีดังกล่าว และมีผู้เสียชีวิตกว่า 60 ล้านคนในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยล่องลอยของบาดแผลครั้งนี้ได้ปรากฏให้ได้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน และส่งผลต่อโครงสร้างของภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในรัสเซียและยุโรปตะวันออก
ในปี ค.ศ. 1942 สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมต่อต้านเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง และสหรัฐผลิตยุทธภัณฑ์และจำหน่ายกับกองทัพรัฐชาติพันธมิตร ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาได้ร่วมกับอังกฤษทำหน้าที่สำคัญในการทิ้งระเบิดตามเมืองยุทธศาสตร์ของเยอรมนี รวมถึงเมืองเดรสเดน (Dresden) ที่ถูกระเบิดเพลิง (The Fire Bombing) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เป็นเหตุทำให้พลเรือนเสียชีวิตไป 1 แสนคน หลังจากการข้ามช่องแคบอังกฤษในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 หรือวันดีเดย์ (D-Day) กองทัพอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันโจมตีกองทัพเยอรมนีจากทางด้านตะวันตก ในขณะที่กองทัพของสหภาพโซเวียตโจมตีจากทางด้านตะวันออก ประเทศเยอรมนีสูญเสียอย่างมหาศาลจึงประกาศยอมแพ้และถูกยึดครองโดยรัฐชาติมหาอำนาจพันธมิตรในเวลาต่อมา
จุดสูงสุดของกองทัพเยอรมนีและพันธมิตรคือ การยึดครองยุโรปทั้งหมด ยกเว้นอังกฤษและบางส่วนของรัสเซีย ภายใต้นโยบายความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ เยอรมนีสังหารชาวยิวไปถึง 6 ล้านคน และชนชาติอื่นๆ หลายล้านคน รวมทั้งพวกรักร่วมเพศ ยิปซี และพวกคอมมิวนิสต์ การสังหารหมู่นี้เราเรียกว่า “The Holocaust” เจ้าหน้าที่ของเยอรมนีที่รับผิดชอบกับการสังหารหมู่ดังกล่าวต้องเผชิญกับข้อกล่าวหา “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เรียกว่า “ศาลนูเรมเบอร์ก” (Nuremberg Tribunal) หลังจากสงครามสิ้นสุดลง จากประสบการณ์ดังกล่าว โลกไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่เกิดขึ้นบนโลกอีกไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งจากเชื้อชาติหรือศาสนาก็ตาม แต่ภายหลังสงครามเย็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ได้ปรากฏขึ้นอีกทั้งในบอสเนีย (Bosnia) และรวันดา (Rwanda)
ขณะที่สงครามในยุโรปกำลังรุนแรงและหนักหน่วง ญี่ปุ่นต่อสู้ในสงครามเพื่อควบคุมดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การแผ่ขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1930 เป็นไปเพราะความต้องการทรัพยากรจากต่างประเทศ ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ลงโทษญี่ปุ่นด้วยการงดการส่งออกน้ำมันไปยังญี่ปุ่น ฝ่ายญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่ “เพิร์ล ฮาร์เบอร์” (Pearl Harbor) เสียหายเป็นอย่างมากในปี ค.ศ. 1941 และยึดครองดินแดนที่ต้องการเป็นตน รวมทั้งการยึดครองอินโดนิเซียเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำมันทดแทนจากสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาได้สร้างกองทัพใหม่ขึ้นมา และสามารถยึดเกาะต่างๆ ที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกกลับคืนในเวลาต่อมา และการทิ้งระเบิดตามเมืองยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นโดยสหรัฐอเมริกายังถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญเพียงครั้งเดียวที่มีการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ในสงคราม และเมืองที่ถูกโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ ได้แก่ “ฮิโรชิมา” (Hiroshima) และ “นางาซากิ” (Nagasaki) ในปี ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้อย่างรวดเร็ว
บทเรียนของสงครามโลกสองครั้งดูเหมือนมีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เช่น ในปี ค.ศ. 1938 ความล้มเหลวของข้อตกลงมิวนิคเกิดจากการที่ต้องการเอาอกเอาใจฮิตเลอร์ และในปี ค.ศ. 1914 ปรากฏการณ์ที่ยุโรปเข้าสู่หายนะของสงครามครั้งนี้ เนื่องมาจากการไม่อดทนอดกลั้นต่อกัน ดังนั้นความลำบากของการดำเนินนโยบายต่างประเทศในภาวะสงคราม คือ การตัดสินใจจะรุกราน หรือป้องกันสงคราม และนโยบายที่ดีที่สุด คือ บางครั้งต้องดำเนินนโยบายขัดขืน หรือต่อต้าน หรือบางครั้งต้องดำเนินนโยบายประนีประนอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (Goldstein, 1999: 38-40)
ยุคสงครามเย็น
สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตกลายมาเป็นสองรัฐชาติอภิมหาอำนาจยุคภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Gaddis, 1997) ซึ่งทั้งสองรัฐชาติต่างก็มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน มีพันธมิตรที่เป็นเครือข่ายเฉพาะของตน มีสมาชิกที่เป็นรัฐชาติในโลกที่สาม และมีอาวุธมหัตภัยอย่างนิวเคลียร์ในการครอบครอง ทวีปยุโรปถูกแบ่งออกด้วยกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาและสมาชิกเนโต้ และฝั่งหนึ่งก็ถูกยึดครองด้วยกำลังทหารของสหภาพโซเวียตและสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอว์ ประเทศเยอรมนีถูกแบ่งออกสองส่วน โดยพื้นที่สามในสี่ของพื้นที่ทั้งประเทศ และพื้นที่สามในสี่ของกรุงเบอร์ลินถูกยึดครองโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส สำหรับส่วนที่เหลือถูกยึดครองด้วยสหภาพโซเวียต วิกฤตการณ์ในกรุงเบอร์ลิน ปี ค.ศ. 1948 และปี ค.ศ. 1961 ได้นำไปสู่การเผชิญหน้าของกองทัพ แต่ไม่ได้มีสงครามเกิดขึ้น ในปี ค.ศ. 1961 เยอรมนีตะวันออกสร้างกำแพงเบอร์ลิน (Berlin War) เพื่อเป็นการแบ่งแยกระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก ซึ่งถือมันเป็นสัญลักษณ์การแบ่งแยกยุโรปโดยเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ เรียกมันว่า “ม่านเหล็ก” (Iron Curtain)
แม้จะมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตกช่วงสงครามเย็น โครงสร้างของความมั่นคงร่วมและความขัดแย้งที่ปรากฏไม่เคยยกระดับเข้าสู่สงคราม การประชุมที่ยอลตา (Yalta) ปี ค.ศ. 1945 ระหว่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียต เมื่อความพ่ายแพ้กำลังเข้าใกล้เยอรมนี ทำให้ฝ่ายตะวันตกทราบความจริงว่า กองทัพของสหภาพโซเวียตยังจะคงกองกำลังอยู่ในยุโรปตะวันออก และดินแดนเหล่านั้นจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ขณะที่รัฐชาติที่เป็นสมาชิกของค่ายสหภาพโซเวียตไม่เข้าร่วมกันองค์การระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ เช่น IMF แต่รัฐชาติทั้งหลายก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และองค์การสหประชาชาติสามารถบริหารจัดการและดูแลรัฐชาติสมาชิกให้แนบแน่นกัน ภายใต้โครงสร้างและกฏเกณฑ์พื้นฐานตลอดระยะเวลาช่วงสงครามเย็น
ศูนย์กลางของความสนใจของฝ่ายตะวันตกช่วงสงครามเย็น คือ สหภาพโซเวียตซึ่งอาจจะเข้ายึดครองยุโรปตะวันตกได้ด้วยวิธีการรุกราน หรือวิธีให้คอมมิวนิสต์มีอำนาจภายในแต่ละรัฐชาติของยุโรปตะวันตกที่กำลังมีสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ด้วยความหวาดกลัวต่อความคิดดังกล่าวแผนการมาร์แชล (The Marshall Plan) หรือแผนการช่วยทางการเงินของสหรัฐอเมริกา เพื่อจะบูรณะระบบเศรษฐกิจของยุโรปจึงได้ถูกจัดทำขึ้น เช่นเดียวกับการสถาปนาเนโต้ ช่วงเวลานี้งบประมาณด้านการทหารทั่วโลกได้ถูกนำมาใช้เป็นจำนวนสูงถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมดกับยุโรป และค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลก็ถูกใช้กับการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ที่มีจำนวนมากกว่าหลายหมื่นลูก
ตลอดระยะเวลาของนโยบายการปิดกั้น (The policy of Containment) ที่นำมาใช้ช่วงทศวรรษที่ 1940 สหรัฐอเมริกาขัดขวางการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในสังคมชุมชนระหว่างประเทศหลายๆ มิติ เช่น การทหาร การเมือง อุดมการณ์ และเศรษฐกิจ เป็นต้น สหรัฐอเมริกาพยายามขยายฐานทัพของตนและขยายเครือข่ายพันธมิตรไปทั่วโลก แท้ที่จริงแล้วนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาหลายทศวรรษต่อมาไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือจากต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการทหาร และการทูตล้วนแล้วแต่เป็นการรองรับกับเป้าหมายของนโยบายการปิดกั้นทั้งสิ้น
การปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน (The Chinese Communist Revolution) ในปี ค.ศ. 1949 ทำให้เกิด “พันธมิตรจีน-โซเวียต” (Sino-Soviet Alliance) และจีนได้เสรีภาพอย่างแท้จริงช่วงทศวรรษที่ 1960 ตาม “นโยบายแยกตัวจากสหภาพโซเวียต” (Sino-Soviet split) ซึ่งจีนเลือกที่จะยืนตรงข้ามกับสหภาพโซเวียต และขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วย “นโยบายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” (Peaceful Coexistence) กับสหรัฐอเมริกา ช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 จีนเข้าสู่ความโกลาหลและการขัดแย้ง เนื่องจาก “การปฏิวัติวัฒนธรรม” (Cultural Revolution) จนทำให้เกิดความหมางเมินกับทั้งสองรัฐชาติอภิมหาอำนาจ แต่ความรู้สึกที่ถูกอำนาจของสหภาพโซเวียตคุกคาม ผู้นำของจีนจึงกลับมากระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอีกครั้งช่วงทศวรรษที่ 1970 ด้วยการเริ่มเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสัน ปี ค.ศ. 1972 ระหว่างยุคสงครามเย็น จีนได้เล่นบทบาทผู้รักษาดุลยภาพของอำนาจ (Balancer) เพื่อต่อต้านรัฐชาติอภิมหาอำนาจในเวลานั้น
สงครามเกาหลีปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 1950 เกาหลีเหนือบุกโจมตีเกาหลีใต้ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรซึ่งได้รับฉันทามติจากที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหลังจากการประท้วงของสหภาพโซเวียตด้วยการเดินออกจากที่ประชุม การตอบโต้และรุกกลับของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรส่งผลให้ยึดดินแดนเกือบทั้งหมดของเกาหลีเหนือได้ และจีนได้ส่งอาสาสมัครไปช่วยเกาหลีเหนือรบ ซึ่งสามารถตรึงแนวรบกลับมาอยู่ใกล้กับเส้นเขตแดนเดิม จนกระทั่งปี ค.ศ. 1953 จึงได้ยุติการรบด้วยการเจรจาสงบศึก สงครามเกาหลีทำให้ทัศนคติของสหรัฐอเมริกาต่อคอมมิวนิสต์แย่ลง และกังวลต่อความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนช่วงทศวรรษที่ 1950 ผู้นำของสหรัฐอเมริกาพิจารณาการใช้อาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสงครามเกาหลี แต่ก็ตัดสินใจไม่ทำ
สงครามเย็นบรรเทาความร้อนแรงลงชั่วคราวหลังสตาลินถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1953 การประชุมของผู้นำรัฐชาติอภิมหาอำนาจครั้งแรกเกิดขึ้นที่ กรุงเจนนีวา (Geneva) ปี ค.ศ. 1955 แต่สหภาพโซเวียตได้ส่งรถถังเข้าบดขยี้ประชาชนที่ลุกขึ้นประท้วงในฮังการี ปี ค.ศ. 1956 และเกิดซ้ำอีกครั้งในปี ค.ศ. 1968 ที่เชคโกสโลวาเกีย และโครงการส่งดาวเทียมสปุตนิคเข้าสู่วงโคจรของสหภาพโซเวียตปี ค.ศ. 1957 ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดความตระหนกขึ้น นอกจากนี้ การที่เครื่องบินสอดแนม ยู-2 (The U-2) ของสหรัฐอเมริกาถูกยิงตกในเขตน่านฟ้าของสหภาพโซเวียต ส่งผลทำให้ผู้นำของรัฐชาติอภิมหาอำนาจทั้งสองต้องสู่การประชุมอีกครั้งในปี ค.ศ. 1960 ระหว่างประธานาธิบดีครูชชอฟ (Khrushchev) และประธานาธิบดีไอเซนฮาว (Eisenhower) ในขณะปี ค.ศ. 1961 สหรัฐอเมริกาพยายามต่อต้านการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ของฟิเดล คาสโต (Fidel Castro) ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1959 ด้วยการรุกที่ “อ่าวหมู” (Bay of Pigs) แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ความหวาดกลัวได้มาถึงขีดสุด เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) ในปี ค.ศ. 1962 เนื่องจากสหภาพโซเวียตติตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางในคิวบา เพื่อเป็นการลดนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของสหภาพโซเวียต และการป้องกันการรุกรานครั้งใหม่ของสหรัฐอเมริกาต่อคิวบา ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ (John F Kennedy) ได้กำหนดแนวสกัดกั้นทางทะเลเพื่อเป็นกดดันให้เลิกการติดตั้งอาวุธดังกล่าว ในที่สุดสหภาพโซเวียตได้ถอนขีปนาวุธกลับ และสหรัฐอเมริกาสัญญาจะไม่รุกรานคิวบาอีกในอนาคต ผู้นำทั้งสองได้ถูกทำให้หวาดกลัวต่อความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ จึงเป็นที่มาของการลงนามใน “สนธิสัญญาจำกัดการทดสอบนิวเคลียร์” (The Limited Test Ban Treaty) ในปี ค.ศ. 1963 โดยห้ามการทดสอบนิวเคลียร์ในชั้นบรรยายกาศ และเริ่มการรวมมือในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การสำรวจอวกาศ การบิน และประเด็นอื่นๆ
สองรัฐชาติอภิมหาอำนาจมักเล่นบทบาทผู้นำกับรัฐชาติในโลกที่สามอยู่เสมอๆ การสนับสนุนสงครามตัวแทน (Proxy Wars) ถือเป็นส่งเสริมอีกรูปแบบหนึ่ง หรือการหนุนฝ่ายต่อต้านในสงครามกลางเมืองก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ช่วงทศวรรษที่ 1970 สหรัฐอเมริกาสนับสนุนรัฐบาลเอธิโอเปีย และสหภาพโซเวียตก็สนับสนุนคู่ปรับอย่างรัฐบาลโซมาเลีย เมื่อมีการปฏิวัติในเอธิโอเปียส่งผลให้รัฐบาลใหม่ต้องความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกาก็หันกลับมาให้การสนับสนุนโซมาเลียแทน
ตัวอย่างหนึ่งของความผิดพลาดของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามเย็น เช่น ความขัดแย้งในภูมิภาคผ่านเลนส์ฝ่ายตะวันออก-ฝ่ายตะวันตก การยึดครองดินแดนต่างๆ ของคอมมิวนิสต์เป็นเหตุทำให้สหรัฐอเมริกาต้องสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่นิยมฝ่ายตะวันตก และไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนในประเทศยากจนมากมาย คงไม่มีที่ใดที่สามารถสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงเท่ากับสงครามเวียดนาม (Vietnam War) ในทศวรรษที่ 1960 สงครามเวียดนามได้แบ่งแยกประชาชนของสหรัฐอเมริกาและในที่สุดก็เกิดความล้มเหลวกับการป้องกันการยึดครองของคอมมิวนิสต์ การพ่ายแพ้ของเวียดนามใต้ปี ค.ศ. 1975 แสดงให้เห็นถึงสัญญาณความอ่อนแอของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลาง เช่น ในปี ค.ศ. 1973 การห้ามส่งน้ำมันไปยังสหรัฐอเมริกาของรัฐชาติอาหรับ เพื่อต่อต้านสหรัฐอเมริกา และปี ค.ศ. 1979การโค่นล้มราชบัลลังก์ของกษัตริย์ชาห์ของอิหร่านที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอยู่โดยกลุ่มเคร่งศาสนา
ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาปรากฏให้เห็นถึงความอ่อนแอ สหภาพโซเวียตได้รุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน (Afghanistan) ในปี ค.ศ. 1979 สหภาพโซเวียตไม่สามารถปราบปรามกองทัพของกบฏได้ ในที่สุดสหภาพโซเวียตต้องถอนทหารกลับเมื่อระยะเวลาผ่านไปเกือบสิบปี และถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เห็นถึงจุดอ่อนของสหภาพโซเวียต เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียตนาม ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีเรแกน (Reagan) ได้สร้างกองทัพของสหรัฐอเมริกา และสนับสนุนกองทัพของกลุ่มกบฏในรัฐชาติที่เป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต เช่น นิคารากัว (Nicaragua) แองโกล่า (Angola) และกัมพูชา (Cambodia) เช่นเดียวกับในอัฟกานิสถาน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติอภิมหาอำนาจทั้งสองได้พัฒนาไปอย่างช้าๆ หลังจากที่ประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ขึ้นสู่อำนาจปี ค.ศ. 1985
เมื่อย้อนกลับไปดูรัฐชาติอภิมหาอำนาจทั้งคู่ สหภาพโซเวียตมักโอ้อวดความเข้มแข็งของตนเอง เช่น ในช่วงต้นของการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกามีความเหนือกว่าอย่างสิ้นเชิง สหภาพโซเวียตต้องใช้เวลาพอสมควรถึงจะมี A-Bombs ถึง H-Bombs ถึง ขีปนาวุธหลายหัวรบ (multiple-warhead missiles) จนกระทั่งถึงช่วงทศวรรษที่ 1970 สหภาพโซเวียตจึงจะบรรลุสู่ความเท่าเทียมทางยุทธศาสตร์ หมายความว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถป้องกันความเสียหายของตนในสงครามนิวเคลียร์ แต่เบื้องหลังของการสร้างความสามารถของกองทัพให้เท่าเทียมกับสหรัฐอเมริกานั้น ความล่าช้าเป็นเพราะความมั่งคั่งอย่างแท้จริง เทคโนโลยี โครงสร้างขั้นพื้นฐาน และแรงจูงใจของประชาชน
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1989 ฝูงชนที่นิยมประชาธิปไตยได้ออกมาประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน (Tiananmen Square) กลางกรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีน ได้ถูกจัดการด้วยความรุนแรงจากรัฐบาล และมีผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงจำนวนมาก ราวปี ค.ศ. 1989 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกถูกกดดันอย่างหนักจากผู้ประท้วงจำนวนมาก การทลายลงของกำแพงเบอร์ลินปลายปี ค.ศ. 1989 เป็นสัญลักษณ์ของจุดสิ้นสุดของสงครามเย็นในยุโรป เยอรมนีกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวในปี ค.ศ. 1990 ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟยินดีที่จะสูญเสียอำนาจภายนอก โดยให้ความสนใจกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในประเทศตามนโยบายของตน คือ นโยบายเปเรสทรอยก้า (Perestroika) การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และนโยบายกลาสนอสท์ (Glasnost) การเปิดกว้างทางการเมือง และในที่สุดสหภาพโซเวียตก็ล่มสลายใน ปี ค.ศ. 1991
นักวิชาการมีความเห็นที่แตกต่างกันกับคำถามสำคัญที่ว่า “เพราะเหตุใดสงครามเย็นจึงสิ้นสุดลง” บางกลุ่มเห็นว่า ความเข้มแข็งของกองทัพสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีเรแกนกดดันให้สหภาพโซเวียตต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันอาวุธต่อไป แต่เกิดการคอร์รัปชั่นในการดำเนินการดังกล่าว บางกลุ่มเห็นว่า สหภาพโซเวียตต้องประสบกับความยากลำบากจากปัญหาภายใน เช่น การเฉื่อยชาของระบบราชการมาหลายทศวรรษจนทำให้เกิดการระเบิดจากภายในเองมากกว่าแรงกดดันจากภายนอก และบางกลุ่มคิดเห็นว่า สหภาพโซเวียตอาจล่มสลายมาก่อนหน้านี้ หากไม่มีกองทัพของศัตรูอย่างสหรัฐอเมริกามาสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลสหภาพโซเวียตแก่ประชาชนของตน (Goldstien, 1999: 43-44)
ยุคหลังสงครามเย็น
ยุคหลังสงครามเย็นเริ่มด้วยความระทึก เช่น การสลายตัวของสหภาพโซเวียต ซึ่งหลายคนเชื่อว่าปี ค.ศ. 1990 เป็นปีแห่งสิ้นสุดลงของสงครามเย็น และได้ทิ้งสูญญกาศแห่งอำนาจในแต่ละภูมิภาคไว้ เช่น อิรัก (Iraq) เข้ายึดครองคูเวต (Kuwait) ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน เพราะหวังจะควบคุมแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง รัฐชาติมหาอำนาจตะวันตกถูกทำให้เกิดความกลัวจากเหตุการณ์ทั้งสอง กองทัพร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัฐชาติหลักเข้าต่อสู้กับอิรัก และการทำงานผ่านองค์การสหประชาชาติภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาขยายการลงโทษต่ออิรักเริ่มด้วยการประณามจนกระทั้งการห้ามอิรักส่งออกน้ำมันของตน ซึ่งประธานาธิบดีบุช (Bush) ได้รับอำนาจจากสภาคองเกรสในการใช้กำลังกับอิรัก
เมื่ออิรักไม่ยอมถอนกำลังจากคูเวตภายในกำหนดเส้นตายขององค์การสหประชาชาติ กองทัพร่วมของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเข้าบดขยี้กองทัพของอิรัก และขับไล่กองทัพอิรักออกจากคูเวตใน “สงครามอ่าว” (Gulf War) แต่กองทัพร่วมก็ไม่ได้ยึดครองอิรัก และล้มล้างรัฐบาลอิรัก การดำเนินการเกี่ยวกับสงครามอ่าวนี้ได้เป็นความร่วมกันจากรัฐชาติ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ส่งทหารเข้าร่วมรบ ส่วนญี่ปุ่น และเยอรมันช่วยสนับสนุนด้านการเงิน การดำเนินการนี้ถือเป็น นวัติกรรมใหม่ของการทำสงคราม และถือเป็นการดำเนินการอย่างยุติธรรม (Freeman, 1993)
การสิ้นสุดของการล่มสลายของสหภาพโซเวียตหลังจากสงครามอ่าวเพียงหนึ่งเดือน สาธารณรัฐทั้ง 15 สาธารณรัฐของอดีตสหภาพโซเวียต เริ่มประกาศตนเองเป็นรัฐชาติอธิปไตย กระบวนการเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาซับซ้อนมากมายจากประเด็นของการตัดสินใจด้วยตนเองในเรื่องต่างๆ จนถึงการจัดสรรทรัพย์สินต่างๆ สำหรับสาธารณรัฐบอลติก (The Baltic Republics) ประกอบด้วย เอสโทเนีย (Estonia) แลทเวีย (Latvia) และลิทัวเนีย (Lithuania) ซึ่งรวมเข้ากับสหภาพโซเวียตตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1940 ได้เป็นผู้นำการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต
โครงสร้างของ “สนธิสัญญาสหภาพ” (The Union Treaty) ถือเป็นหลักการของโครงสร้างใหม่ที่รัฐบาลกลางของอำนาจเก่าพยายามที่จะยึดอำนาจการควบคุมสหภาพโซเวียตด้วยการรัฐประหารจากกองทัพปี ค.ศ. 1991 (Colton, 1992) ความผิดพลาดของการรัฐประหารได้กลายมาเป็นตัวเร่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และพรรคคอมมิวนิสต์ถูกห้ามเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งระบบทุนนิยมและระบอบประชาธิปไตยถูกนำมาใช้พื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองในรัฐชาติที่เป็นอดีตโซเวียตก็เปรียบเสมือนการเปลี่ยนหมวกใบใหม่เท่านั้น สาธารณรัฐทั้งหลายได้กลายเป็นรัฐชาติเอกราช และสร้างโครงสร้างความร่วมมือแบบหลวมๆ ที่เรียกว่า “เครือรัฐชาติเอกราช” (The Commonwealth of Independent States: CIS) อดีตสาธารณรัฐของโซเวียตทั้งหลายล้วนเป็นสมาชิกทั้งสิ้น ยกเว้นรัฐชาติเล็กบริเวณทะเลบอลติก 3 รัฐชาติเท่านั้นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครือรัฐชาติเอกราช
ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายตะวันตกและรัสเซียกับสาธารณรัฐอื่นๆ ไม่ได้ปลอดจากปัญหาหลังจากปี ค.ศ. 1991 เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจของภายในตนเอง ฝ่ายตะวันตกให้เงินช่วยเหลืออย่างจำกัดกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงของภูมิภาค ซึ่งมาตรฐานของการครองชีพได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ การปราบปรามอย่างรุนแรงของรัสเซียต่อกบฏแบ่งแยกดินแดนในเชชเนีย (Chechnya) ในปี ค.ศ. 1995 ได้กระตุ้นให้ฝ่ายตะวันตกหวาดกลัวกับการแพร่ขยายอำนาจ และการก้าวร้าวของนักชาตินิยมรัสเซีย โดยเฉพาะในช่วงต้นของการเลือกตั้งที่นักชาตินิยมชนะการเลือกตั้งของรัฐสภารัสเซีย ผู้นำรัสเซียกลัวการขยายอำนาจของเนโต้เข้าสู่ยุโรปตะวันออกด้วยกองทัพของฝ่ายตะวันตกตามเส้นเขตแดนของรัสเซีย หรือการแบ่งยุโรปใหม่ ประธานาธิบดีเยลซินกล่าวเตือนด้วยวลี “สันติภาพเย็น” (Cold Peace) จะเป็นปัญหาใหม่ (Garthoff, 1994)
แม้ปัญหาเหล่านี้ ทำให้รัฐชาติมหาอำนาจเพิ่มระดับความร่วมมือต่อกันหลังสงครามเย็น ส่วนรัสเซียยอมรับการเป็นตัวตายตัวแทนต่อจากสหภาพโซเวียต และรับที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รัสเซียและสหรัฐอเมริกาตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1990 องค์การสหประชาชาติพยายามช่วยยุติปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคช่วงทศวรรษที่ 1980 เช่น อัฟกานิสถาน กัมพูชา อิรัก-อิหร่าน และในอเมริกากลาง สำหรับภาระหน้าที่ ขอบเขต และค่าใช้จ่ายของสหประชาชาติเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990
ผู้นำของสหรัฐอเมริกาหวังว่า สงครามอ่าวจะก่อให้เกิดตัวอย่างที่ดีในอนาคต เช่น การลงโทษต่อการโจมตี การยอมรับอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนทั้งในคูเวตและอิรัก และความตั้งใจขององค์การสหประชาชาติที่จะจัดระเบียบหลังสงครามเย็น ซึ่งประธานาธิบดีบุช มันเรียกว่า “การจัดระเบียบโลกใหม่” (New World Order) แม้การจัดระเบียบโลกผ่านบททดสอบครั้งสำคัญกับสงครามอ่าว แต่มันก็ถูกสั่งคลอนด้วยบททดสอบครั้งที่ 2 ในบอสเนีย และเหตุการณ์อื่นๆ เช่น โซมาเลีย รวันดา
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศยุคหลังสงครามเย็นถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิ-วัตน์ (Globalization) รัฐชาติทั่วโลกรวมตัวกันเป็นตลาดโลก ศูนย์กลางของความเจริญทางเศรษฐกิจกำลังปรากฏให้เห็น เช่น ความโดดเด่นของเอเชียช่วงทศวรรษที่ 1990 ยกเว้นปี ค.ศ. 1997 ขณะเดียวกันนั้นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐชาติร่ำรวยและรัฐชาติยากจนกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภายในแต่ละประเทศและทั่วโลก โลกาภิวัตน์สร้างภัยคุกคามต่อปัจเจกชนด้วยอิทธิพลจากต่างประเทศ
จีนกำลังกลายเป็นศูนย์กลางของการเมืองโลกจากศตวรรษที่ 20 สู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยขนาดและความรวดเร็วของการเติบโตทำให้จีนกำลังก้าวขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งจีนเป็นรัฐชาติมหาอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่จีนก็มีปัญหากับเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งมักตกเป็นเป้าของการวิพากษ์ของฝ่ายตะวันตก สำหรับการถ่ายโอนการปกครองฮ่องกงจากอังกฤษปี ค.ศ. 1997 จีนหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีการรวมตัวของไต้หวันภายใต้แนวคิดเดียวกับฮ่องกง คือ “หนึ่งประเทศสองระบบ” (One Country, Two systems) เช่นเดียวกัน สำหรับประเด็นเกี่ยวกับไต้หวันและเรื่องสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องสำคัญของจีนในสังคมชุมชนระหว่างประเทศ แต่อย่างก็ดี จีนยีงมีอำนาจยับยั้ง (Veto) ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ มีอาวุธนิวเคลียร์ ความแนบสนิทกับความขัดแย้งต่างๆ ในภูมิภาค มีผลกระทบต่อการลดขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ กับองค์ประกอบทั้งหลายที่กล่าวมาทำให้จีนเป็นตัวแสดงสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระยะหลายทศวรรษที่กำลังจะมาถึง
ยุคหลังสงครามเย็นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะมันเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งดีและเลวขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ ได้เกิดหลักการสำคัญ คือ การจัดระเบียบโลกใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนอลมาล อย่างไรก็ตามกฎเกณฑ์พื้นฐาน และหลักการของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งหลายที่นำมาประยุกต์ใช้กับบริบทจะทำให้เราเข้าใจและทราบทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว (Singer, 1996)
สรุปท้ายบท
เราจะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ปรากฏนั้น การแสดงออกของรัฐชาติต่างๆ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงรูปแบบเดียวตลอดไป บางครั้งอาจความร่วมมือระหว่างกัน หรือบางครั้งเกิดการแข่งขันกัน หรือบางครั้งอาจเกิดความขัดแย้งกัน ทั้งนี้ การแสดงออกของรัฐชาติต่างๆ ได้ดำเนินการตามผลประโยชน์ของรัฐชาติเป็นสำคัญ อีกทั้งการอธิบายถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องอาศัยหลักการหรือทฤษฎีเป็นหลักของการอธิบาย สำหรับหลักการและทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะได้กล่าวในบทต่อไป
บทต่อไปสามารถติดตามได้ทางไหนค้ะ
ตอบลบ