Pol Sci

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สันติวิธีของคนกรุงเทพฯเป็นเรื่องเหลวไหลและใจแคบ

สันติวิธีของคนกรุงเทพฯเป็นเรื่องเหลวไหลและใจแคบ
การที่คนกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่งคิดว่ารักสันติ จนถือดีมาบอกว่า คนเสื้อแดงคนอื่นๆ ที่มาชุมนุมไม่ใช่คนไทย
นี่มันคือการดูถูกความเป็นมนุษย์ของเขาอย่างถึงที่สุด ความเป็นคนไทยมันอยู่ที่ตัวตนของคนเรา
มันไม่ได้อยู่ที่การที่เขามีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกับคนกรุงเทพฯ
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

พิณผกา: วันนี้เราจะพูดถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า คือ วันที่ 12- 14 มีนาคมนี้ ซึ่งคนเสื้อแดงก็จะออกมาชุมนุมโดยที่มีข้อเรียกร้องหลักก็คือ ให้รัฐบาลยุบสภาแต่ในขณะเดียวกัน กระแสสังคมและภาพในสื่อกระแสหลักจะสะท้อนมุมมองของคนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อย ที่ออกมาแสดงความวิตกกังวลในเรื่องความรุนแรง ประชาไทใส่เสียงพูดคุยกับคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นนักวิชาการอิสระ ซึ่งมีผลงานผ่านทางเว็บไซต์ประชาไท เป็นทั้งบทความและบทสัมภาษณ์ รวมถึงมีผลงานแปลคือ รัฐศาสตร์ไม่ฆ่าและผลงานเขียนคือหนังสือชื่อ ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเราศิโรตม์สอนทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ให้กับโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และวิชาการเมืองและสังคมไทยสมัยใหม่ให้กับโครงกรสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

…………………………………………

โง่ จน อคติความเชื่อเดิมๆ ต่อชาวชนบทของสังคมไทย
พิณผกา: บรรยากาศของสังคมคนกรุงเทพฯ ตอนนี้ที่แสดงความวิตกกังวลกันค่อนข้างมากเรื่องของความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 นี้ อะไรที่ทำให้คนกรุงเทพฯ หวาดกลัวคนเสื้อแดงมากขนาดนี้
ศิโรตม์: ผมคิดว่าการที่คนกรุงเทพฯ หวาดกลัวคนเสื้อแดง มาจากหลายๆ ปัจจัย ปัจจัยหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสำคัญมากๆ คือ คนกรุงเทพฯ ถูกรัฐบาลให้ข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับคนเสื้อแดงมาเป็นเวลานานมาก เวลาเราฟังเจ้าหน้าที่ของรัฐเวลาเราฟังรัฐมนตรีหรือว่าเวลาเราฟังบุคคลสำคัญ ของหน่วยราชการต่างๆ พูดถึงคนเสื้อแดง ผมคิดว่าภาพมันออกมาค่อนข้างชัดเจนว่า รัฐบาลและข้าราชในปัจจุบันนี้พยายามที่จะทำให้ภาพของคนเสื้อแดงนี่เป็นเหมือนกับศัตรูของชาติ หรือพูดง่ายๆ คือว่ารัฐบาลทำให้คนเสื้อแดงนี่เป็นเหมือนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน แล้วก็พยายามจะสร้างภาพของคนเสื้อแดงที่จะเข้ามากรุงเทพฯ เหมือนกับว่าเป็นการเดินทัพหรือว่าเป็นการเดินทางของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะเดินทางมายึดเมืองหลวงอะไรทำนองนี้ อันนี้คือข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นคือว่า การสร้างข่าวของคนเสื้อแดงในด้านลบมาเป็นเวลานาน
อันที่ 2 ก็คือ การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีลักษณะหลายๆ ด้านซึ่งขัดแย้งหรือว่าแตกต่างกับทัศนคติของคนกรุงเทพฯ แตกต่างกับรสนิยมของคนกรุงเทพฯ แตกต่างกับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ หลายเรื่อง เราปฏิเสธไม่ได้ในฐานะที่เราเป็นคนกรุงเทพฯ ว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีทัศนคติต่อคนชนบทในแง่ลบอยู่แล้ว คนกรุงเทพฯ ถูกสอนมาตลอดเวลาว่าคนชนบทคือคนโง่ ถูกสอนมาตลอดเวลาว่าคนชนบทคือคนที่ไร้การศึกษา คือคนที่ถูกซื้อเสียงได้ เพราะฉะนั้นแล้วสำหรับคนกรุงเทพฯ เขามีความคิดอยู่ก่อนแล้วว่าคนชนบทไม่รู้เรื่องการเมือง เป็นเหยื่อของนักการเมืองถูกนักการเมืองหลอก อันนี้คืออคติที่มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ
อคติข้อที่สองก็คือ ความรู้สึกว่าคนชนบทคนเสื้อแดงเป็นคนซึ่งหัวรุนแรง เป็นคนซึ่งถูกซื้อถูกหลอกใช้ด้วยพรรคไทยรักไทยโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นี่คืออคติข้อที่สอง แล้วผมคือว่าถ้าเราไล่ไปเรื่อยๆ นี่ ความไม่พอใจของคนกรุงเทพฯ ต่อคนเสื้อแดงมันก็มีอคติแบบนี้ซ่อนเร้นอยู่เยอะ แยะเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นผมคิดโดยเบื้องต้นผมคิดว่ามันอาจจะมีอยู่สองเรื่องที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยไว้ใจคนเสื้อแดง ข้อหนึ่งก็คือการตกเป็นเหยื่อของข่าวที่รัฐบาลพยายามสร้างมาเป็นเวลานาน ข้อสองก็คือ อคติดั้งเดิมของคนกรุงเทพฯ เองต่อคนชนบท หรือต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ว่าได้ ที่มีมานานแล้วก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะขึ้นมา เพราะตอนนี้อคติแบบนี้มันถูกใช้โดยรัฐบาลชุดนี้มากขึ้น จนทำให้เราเห็นความรู้สึกของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อคนเสื้อแดง ในแบบที่เหมือนกับเขาเป็นศัตรูอยู่ในปัจจุบัน

พื้นฐานความคิดคนละชุด 
พิณผกา: 
แต่ว่าถ้ามองในมุมกลับอันนี้คือความล้มเหลวของคนเสื้อแดงเองด้วยหรือเปล่า ในการที่จะขยายเครือข่ายหรือขยายความเข้าใจไปสู่สื่อกระแสหลักแล้วก็ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ?
ศิโรตม์: ผมคิดว่าถ้าพูดถึงความล้มเหลวก็ต้องพูดว่ามันเป็นความล้มเหลวในเงื่อนไขแบบไหน? เช่น ผมคิดว่าถึงที่สุดแล้วสิ่งที่คนเสื้อแดงพยายามจะพูด เป็นสิ่งซึ่งอยู่นอกกรอบความเข้าใจของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะความเข้าใจทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ ทั้งชุดเลย สิ่งที่เราเห็นจากการชุมนุมคนเสื้อแดงคืออะไร เราเห็นการชุมนุมของคนจากต่างจังหวัดจำนวนมาก เราจะเห็นการชุมนุมของคนชั้นล่างจำนวนมากเราเห็นการชุมนุมโดยใช้เรื่องมือทางวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่ง ใช้หมอลำ ใช้ศิลปินใช้นักร้องที่คนกรุงเทพฯ จะมองว่าเป็นคนละชั้นจำนวนมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนเสื้อแดงพูดถึงประชาธิปไตยหรือพูดถึงการเมืองรวมทั้งเคลื่อนไหวทางการเมืองในโหมดหรือว่าในแบบแผนซึ่งยากมาที่คนกรุงเทพฯ จะเข้าใจพวกเขาได้
อย่างเช่นถ้าคนกรุงเทพฯ จะเข้าใจคนเสื้อแดงได้จะต้องมีความคิดอะไรบ้าง อย่างหนึ่งก็คือจะต้องคิดว่าคนชนบทนี่ก็รู้เรื่องการเมืองได้ อย่างที่สองคือต้องคิดว่าคนเราไม่ว่าจะมีการศึกษามากน้อยไม่ได้เป็นเหตุให้ เขามีสิทธิทางการเมืองต่างกัน อย่างที่สามต้องมีความคิดว่า คนเราไม่ว่าจะเป็นคนชนบทหรือคนชั้นล่าง ไม่ว่าเขาจะมีวิถีชีวิตแบบไหน เขาจะมีวัฒนธรรมแบบไหนเขาเป็นคนเท่ากับเรา เฉพาะแค่สามเรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่อยู่นอกความเข้าใจของคนกรุงเทพฯ จำนวนมากในปัจจุบันแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงความล้มเหลวของคนเสื้อแดงก็พูดได้ว่ามีความล้มเหลว แต่ว่าคำถามที่ต้องคิดคือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดงในเรื่องต่างๆ บนพื้นฐานแบบนี้ ใครบ้างที่จะทำสำเร็จ ใครบ้างที่จะชนะ หรือทำให้คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เข้าใจได้ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องยากเพราะว่าสิ่งที่คนเสื้อแดงพูดนี่มันมาจากโลกทัศน์อีกชุดหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่ามันไกลตัวคนกรุงเทพฯ โดนเฉพาะคนชั้นกลางค่อนข้างมาก

ไม่ใช่แค่ดัดจริตชนชั้นกลาง แต่เป็นรากลึกที่ฝังมานาน
พิณผกา: อันนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของจริตใช่ไหม?
ศิโรตม์: ไม่ใช่ สิ่งที่เราพบเห็นในท่าทีของคนกรุงเทพฯ ต่อคนเสื้อแดงนี่ไม่ใช่แค่เรื่องจริต หรือไม่ใช่แค่เรื่องที่หลายคนวิจารณ์ว่าเป็นความดัดจริตของชนชั้นกลาง ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่มีรากฝังเป็นเวลานานมากๆ อย่างเช่น เรื่องหนึ่งที่ผมค้นพบจากการกลับไปอ่านงานของนักวิชาการรุ่นเก่าๆ ที่ทำ เรื่องการเมืองไทย จริงๆ ก็ไม่ใช่รุ่นเก่าบางคนก็ยังมีชีวิตอยู่ เป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รุ่นอาวุโสเยอะแยะ พอเรากลับไปอ่านด้วยสายตาอีกแบบหนึ่ง ผมพบว่ามันมีร่องรอยของการมองชาวบ้านหรือมองคนส่วนใหญ่ในแง่ดูถูกหรือแง่ลบไปหมดเลย นักวิชาการรัฐศาสตร์คนหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากเป็นอันดับต้นๆ ในเมืองไทย เขียนถึงการเมืองไทยไว้ว่ามีปัญหาเพราะคนชนบทขาดการศึกษา นักวิชาด้านนิติศาสตร์คนหนึ่งที่เป็นปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชนในปัจจุบันนี้เลยก็ว่าได้ เขียนถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญไทยว่า สาเหตุที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญค่อนข้างเยอะเป็นเพราะว่า รัฐธรรมนูญไทยไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชนชั้นนำได้อย่างเต็มที่ นี่คืออคติที่สอนอยู่ในระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลานาน นี่คือตัวอย่างหนึ่งแค่นั้นเองว่า วิธีคิดหรือมุมมองที่ชนชั้นกลางมีต่อเสื้อแดงเองไม่ใช่แค่เรื่องดัดจริต แต่ว่าเป็นผลของการถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ต่างๆ ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมต่างๆ หรือวาทกรรมต่างๆ ซึ่งยากมากที่ชนชั้นกลางจะหลุดจากกรอบนี้ได้
การใช้คำพูดต้องระวัง
พิณผกา:
 พยายามที่จะเข้าใจชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มากขึ้น แกนนำของคนเสื้อแดงก็อาจจะมีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจด้วยหรือเปล่า? การพูดของคนเสื้อแดงซึ่งไม่เป็นภาพอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น บางคนพูดคล้ายๆ ว่าจะเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น แล้วก็มักจะถูก quote ซ้ำๆ ในสื่อต่างๆ หรือว่าการที่คนเสื้อแดงเชื่อมโยงอยู่กับคุณทักษิณค่อนข้างมาก มันทำให้เกิดอคติต่อการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงว่า ทั้งหมด สารอย่างที่คุณศิโรตม์พูดมาอาจจะไม่ใช่ของคนเสื้อแดงก็ได้ ที่สุดแล้วเสื้อแดงอาจจะต้องการสู้เพื่อผู้นำที่เขาชอบก็คือคุณทักษิณเท่านั้น
ศิโรตม์: คำตอบก็คงจะมีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ ถ้าเรามองจากจุดยืนเรื่องประชาธิปไตย ต่อให้คนเสื้อแดงจะสู้เพื่อคุณทักษิณ ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะมีปัญหาอะไร เพราะว่าคนทุกคนมีสิทธิที่จะมีผู้นำทางการเมืองที่เขาชอบได้ แล้วถ้าผู้นำทางการเมืองของเขาถูกกระทำด้วยเรื่องที่เขารู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม เขาก็มีสิทธิแสดงออกได้ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าคุณอภิสิทธิ์ถูกกระทำแบบเดียวกัน ผมก็เชื่อว่าคงมีคนจำนวนมากที่ชอบคุณอภิสิทธิ์ออกมาประท้วงหรือออกมารวมตัว กันแบบนี้เหมือนกัน ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอะไร
เว้นแต่ว่า เราจะมองเรื่องนี้ในกรอบของคุณทักษิณว่านี่คือศัตรูของชาติ ว่าใครก็ตามที่ยังนิยมคุณทักษิณอยู่ก็คือคนที่เป็นศัตรูของชาติไปด้วย ซึ่งถ้ามองคนเสื้อแดงจากมุมแบบนี้มันก็ไม่สามารถจะเข้าใจคนเสื้อแดงทั้งหมดได้แล้ว
อันที่สองที่อาจจะสำคัญก็คือว่าการพูดถึงคนเสื้อแดงต้องระวังมากๆ ว่าเรากำลังพูดถึงใคร พูดถึงผู้นำของคนเสื้อแดง พูดถึงคุณวีระ คุณจตุพร หรือคุณณัฐวุฒิ หรือว่าพูดถึงนักปราศรัยของคนเสื้อแดงอย่างคุณแรมโบ้อีสาน คุณอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ก็ต้องเอาให้ชัดอยู่เหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่ชัดเจนมันก็จะเกิดปัญหาว่าสิ่งที่คนไหนพูดบ้างว่าเราสมารถนับได้ว่าเป็นเสียงของคนเสื้อแดง หรือว่าเรากำลังพูดถึงคนเสื้อแดงที่มาชุมนุม ที่นั่งรถจากอีสานมา 7-8 ชั่วโมง นั่งรถมาจากเชียงใหม่มา 9-10 ชั่วโมงเพื่อที่จะมาชุมนุม มันก็มีความหลากหลาย
การตอกย้ำภาพของคนเสื้อแดงโดยเลือกคำพูดของคนบางคนมาใช้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลมากกว่าพูดตรงๆ อย่างเช่น กรณีของคุณอริสมันต์ทุกวันนี้ที่ทุกคนชอบพูดว่า คุณอริสมันต์พูดว่าเอาน้ำมันมาคนละขวด ผมคิดว่าสำหรับผมแล้ว ผมเข้าใจว่าสิ่งที่คุณอริสมันต์พูด หนึ่ง โดยประโยคเต็มก็คือว่า ถ้ามีการปฏิวัติรัฐประหาร ให้คนเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ แล้วถือน้ำมันมาคนละขวด อันที่สองก็คือ ผมคิดว่ามันเป็นวิธีพูดเพื่อปลุกใจผู้ฟังมากกว่า ซึ่งในเวทีการชุมนุมทุกครั้งก็มีการพูดแบบนี้เยอะแยะ อย่างเช่นกรณีพันธมิตรฯ ชุมนุมปิดสนามบินหรือตอนที่พันธมิตรยึดทำเนียบ เราก็ได้ยินการปราศรัยแบบนี้ ผู้นำของพันธมิตรฯ ก็พูดกันเยอะแยะว่าฆ่ามันก็มี ก็มีการพูดถึงการทำสงครามเก้าทัพก็มี
ผมคิดว่าในแง่หนึ่งผู้นำของคนเสื้อแดงก็ต้องระวังคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการจับผิดหรือหาเรื่อง อันที่สองก็คือคนที่พิจารณาเรื่องนี้ก็ต้องระวังเหมือนกันว่าเราจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร โดยที่ไม่ตกเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาทางเมืองของฝ่ายรัฐบาล
กรุงเทพฯ คือเมืองของทุกคน เป็นเรื่องติงต๊องถ้าให้คนต่างจังหวัดมาเดินไม่ได้
พิณผกา:
 กลับมาที่เรื่องของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่กำลังเฝ้าจับตาดูคนเสื้อแดงด้วยความวิตกกังวลอยู่ตอนนี้ คือในด้านหนึ่งเขาก็กำลังพูดถึงสิทธิของตัวเองในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยเหมือนกัน คือ ช่วงที่ผ่านมาที่เราออกมามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองกันมากๆ เราก็มีการพูดถึงสิทธิในการเคลื่อนไหวทางการเมืองใช่ไหม แต่ว่าเมื่อสังคมไทยผ่านบทเรียนมามากว่า การเคลื่อนไหวในแต่ละครั้งก็ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชุมนุม ช่วงหลังๆ ประเด็นนี้ถูกหยิบยกเอามาพูด คุณมองประเด็นนี้อย่างไร?
ศิโรตม์: ถ้าพูดแบบไม่เกรงใจคือผมมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะว่าอะไร เหลวไหล เพราะว่ามันมาจากสมมติฐานที่ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองของคนกรุงเทพฯ เท่านั้น แล้วสมมติฐานนี้มันมาได้อย่างไร เราไม่เคยมีการพูดเรื่องแบบนี้มาก่อนจนกระทั่ง 2-3 อาทิตย์นี้เอง มาพร้อมกับการที่คนเสื้อแดงจะเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ ถึงเริ่มมีการพูดว่า กรุงเทพฯ เป็นของคนกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ ได้รับความเดือดร้อน
ผมคิดว่าถ้าเรามองกลับกัน ถ้าเรามองว่ากรุงเทพฯ เป็นของคนทุกคน เราก็รู้ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของคนทุกคน การที่มันเป็นเมืองหลวงมันหมายถึงการเป็นเมืองหลวงของคนทั้งประเทศ คนทุกคนในชาติ คนทุกภาค เพราะฉะนั้นสำหรับผมแล้วการที่คนจากต่างจังหวัดจะเดินทางเข้ามาชุมนุมในประเทศไม่ได้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอะไรเลย ที่อเมริกาก็มีคนจากรัฐอื่นมาเดินขบวนที่วอชิงตันดีซีเป็นปกติ แล้วผมไม่เคยได้ยินคนวอชิงตันดีซีบอกเลยว่าวอชิงตันฯ เป็นเมืองหลวงของคนวอชิงตันฯ เท่านั้น คนที่อื่นห้ามมาเดิน ผมคิดว่าถ้าในอเมริกาเคยบอกแบบนี้คงจะถูกคนหาว่าติงต๊อง
ในกรณีของคนกรุงเทพฯ นี่ก็มีการสร้างวาทกรรมว่าคนกรุงเทพฯ ได้รับความเดือดร้อน คำถามก็คือว่าในช่วง 2-3 ปีก่อนที่มันมีการเดินขบวนของพันธมิตรฯ ทุกวัน มีการปิดถนน มีการยึดทำเนียบ ทำไมไม่มีการที่คนกรุงเทพฯ ออกมาพูดแบบนี้บ้างเลยว่าเราได้รับความเดือดร้อน
คนกรุงเทพฯ ใจแคบ ชาติไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
ผมคิดว่าเรื่องนี้เราจะพูดออกนอกเรื่องออกไปได้นิดหนึ่งก็คือว่า เวลาคนกรุงเทพฯ จะพูดอะไรในเรื่องการเมือง โดยอ้างถึงความเดือดร้อนของตัวเองผมคิดว่ามันสะท้อนถึงความใจแคบของคนกรุงเทพฯ ผมยกตัวอย่างว่าการที่คนกรุงเทพฯ จะพูดว่าคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ แล้วทำให้คนกรุงเทพฯ รถติด สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันคืออะไร เมื่อเดือนก่อนมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม มีปัญหาเรื่องน้ำจากภาคเหนือจะทะลักเข้ามากรุงเทพฯ สิ่งที่เราทำคืออะไร สร้างแนวกั้นน้ำ ไม่ให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ และให้น้ำท่วมอยู่ในบริเวณต่างจังหวัดรอบนอก พอมาตอนนี้เดือนนี้เกิดปัญหาภัยแล้ง เกิดปัญหาที่กรุงเทพฯ อาจจะขาดน้ำ สิ่งที่เราทำคืออะไร สิ่งที่เราทำคือรัฐบาลประกาศ ออกข่าวทุกวันว่า ขอให้เกษตรกรหยุดการทำนา เกษตรกรที่อยากจะทำนาคือที่เห็นแก่ตัวไม่เห็นแก่ชาติ ผมคิดว่าถ้าเราเอาสองภาพนี้มาเทียบกันมันจะเกิดความน่าสนใจมากๆ ว่า ด้านหนึ่งคนกรุงเทพฯ ไม่เคยรักคนต่างจังหวัดพอจะแชร์ความเดือดร้อน จะยอมรับความเดือดร้อนอะไรเลยใช่ไหมครับ เวลาน้ำท่วมก็ผลักภาระให้คนต่างจังหวัด เวลาน้ำแล้งก็ด่าว่าคนต่างจังหวัดทำนาทำไม แต่พอคนต่างจังหวัดจะชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในกรุงเทพฯ คุณก็บอกว่านี่คือจังหวัดของคนกรุงเทพฯ อย่ามา
ผมไม่รู้ว่านี่คือความคิดแบบไหน แต่ว่ามันไม่ใช่วิธีคิดหรือมุมมองว่าเราทุกคนเป็นคนในชาติเดียวกัน แล้วกรณีแบบนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่า ชาติเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริง คนเราพูดถึงชาติก็ต่อเมื่อเราจะใช้ชาติเป็นเครื่องมือทางการเมืองของเราแค่นั้นเอง
การรายงานข่าวต้องเป็นเสียงจากทุกฝ่าย สำคัญคือใช้โครงเรื่องแบบไหน
พิณผกา:
 คุณศิโรตม์บอกว่าอันนี้เป็นเรื่องเหลวไหล แต่ว่าประเด็นนี้มันก็ได้รับการตอบสนองจากสื่อกระแสหลักในเมืองไทยจำนวนไม่น้อย ก็คือมีการพูดกันถึงว่าเวลาที่จะรายงานข่าวชุมนุม ไม่ควรจะรายงานแค่คู่ขัดแย้งเท่านั้นก็คือแค่ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายผู้ชุมนุม หรือฝ่ายค้าน แต่ว่าก็ควรจะให้พื้นที่กับเสียงอื่นด้วย อย่างเช่นกรณีของ 13 เม.ย.52 ก็จะมีการรายงานเสียงของคนที่ดินแดงด้วย อันนี้คุณศิโรตม์มองอย่างไร นี่เป็นการทำหน้าที่ของสื่อที่ balance ไหม?
 ศิโรตม์: คือการรายงานเสียงของคนทุกฝ่าย ผมคิดว่านี่คือหน้าที่พื้นฐานของการทำสื่ออยู่แล้วประเด็นที่เราต้องคิดก็คือในการรายงานเสียงของทุกฝ่าย พล็อตหรือโครงเรื่องที่ใช้ในการอธิบายเสียงของคนทุกฝ่ายมันมีความเป็นอิสระจริงๆ หรือเปล่า เช่นยกตัวอย่างในกรณีของเหตุการณ์ที่ดินแดง ถ้าเราฟังพล็อตจากการอธิบายเรื่องนี้จากสื่อของรัฐหรือว่าจากนกรุงเทพฯ ก็คืออะไร ก็คือคนเสื้อแดงยึดรถก๊าซ แล้วก็ใช้รถก๊าซมาเป็นเครื่องมือในการล้มรัฐบาล แต่ถ้าเราฟังเหตุการณ์นี้จากคนเสื้อแดง เรื่องมันจะเป็นอีกชุดหนึ่งก็คือว่า คนเสื้อแดงยึดรถก๊าซจริง แต่ยึดเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารส่งกำลังเข้ามาบุกปราบปรามประชาชนผู้เข้าชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล วิธีอธิบายสองเรื่องนี้มันต่างกัน แล้ววิธีการอธิบายที่ต่างกันมันนำไปสู่มุมมองต่อเหตุการณ์ที่ต่างกันด้วย เพราะฉะนั้นการรายงานเหตุการณ์จากคนทุกฝ่ายจำเป็นแน่ๆ ไม่มีปัญหา เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำ
คำถามหรือเรื่องที่ต้องระวังก็คือว่า รายงานเสียงของคนทุกฝ่าย โครงเรื่องหลักที่เราใช้เป็นโครงเรื่องของคนทุกฝ่ายหรือเปล่า หรือเราเอาคนทุกฝ่ายมาใส่ในโครงเรื่องบางอย่างที่ชอบอยู่แล้ว ผมคิดว่าในกรณีของเดือนเมษา การรายงานภาพความเดือดร้อนของคนที่ดินแดงหรือว่าหลายๆ ที่มันถูกรายงานบนพล็อตใหญ่คือคนเสื้อแดงเป็นพวกก่อการจลาจล เป็นพวกก่อความวุ่นวาย มุมมองที่จะอธิบายต่อเหตุการณ์นี้จากคนเสื้อแดงผมคิดว่าผมไม่ค่อยเห็น นี่ก็คือปัญหาของการรายงานเรื่องแบบนี้ก็คือว่าโครงเรื่องใหญ่มันไม่ใช่โครงเรื่องที่มาจากทุกฝ่ายจริงๆ
พิณผกา: อันนี้เราพูดในเชิงหลักการของการต่อสู้ของการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง แล้วก็การทำความเข้าใจคนเสื้อแดงในมุมมองของชนชั้นกลาง แต่ถ้าเราประเมินสถานการณ์ข้างหน้า 12-14 มีนาคมนี้ เสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวภายใต้ภาวะที่คุณก็ไม่ได้รับแรงหนุนจากชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ แล้วก็รวมถึงไม่ได้รับแรงหนุนจากสื่อกระแสหลัก เขาออกมาเพื่อจะแพ้หรือเปล่า?
ศิโรตม์: ผมไม่สามารถตอบเรื่องนี้ได้ในเวลานี้เพราะว่าการแพ้ ชนะ มันขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย แต่ผมคิดว่ายิ่งถ้าเรามองว่าคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเข้ามากรุงเทพฯ บนสภาพแวดล้อมซึ่งไม่เอื้ออำนวยกับพวกเขาเลย เช่น หนึ่ง เขาเป็นคนต่างจังหวัดแล้วเข้ามาในกรุงเทพฯ ตากแดด ตากฝน ตากลม นั่งรถมา 8-9 ชั่วโมง มายืนชุมนุมกี่วันก็ไม่รู้ 2-3 วันเป็นอย่างน้อย อันที่สองเขารู้ว่าเขามาชุมนุมในเมือง ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ของเขา อันที่สามเขารู้ว่าเขามาชุมนุมท่ามกลางสื่อของรัฐและสื่อของเอกชนซึ่งไม่ได้อยู่ข้างเขาเลย ผมคิดว่าเรื่องที่เราต้องตั้งคำถามก็คือว่า อะไรทำให้คนเหล่านี้มีจิตใจแบบนี้ขึ้นมาได้ ถ้าเป็นผมผมไม่กล้าทำ ทุกวันแค่ให้ผมพูดเรื่องอะไรแบบที่ไม่ต้องเป็นเสื้อแดงมาแต่ว่าพยายามทำความเข้าใจเสื้อแดงถ้าต้องไปพูดบนเวทีของคนบางกลุ่มผมก็ไม่ไป เพราะผมรู้สึกว่าเราไม่รู้ feedback จะเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้นยิ่งถ้าเรามองภาพคนเสื้อแดงในบริบทแบบนี้เท่าไหร่ ผมคิดว่าเราจะต้องตั้งคำถามมากขึ้นด้วยซ้ำว่าระดับแสนคนเป็นอย่างน้อยเขาทำสิ่งซึ่งมันมีต้นทุนที่เสี่ยงมากๆ แล้วผมคิดว่า ถ้าผมเป็นคนเสื้อแดงถ้าผมจะมากรุงเทพฯ ผมกลัวอะไร หนึ่งเลยผมกลัวถูกคนเสื้อแดงทำร้าย ผมกลัวรัฐบาลปล่อยข่าวให้ร้ายผม ผมกลัวมือที่สามแทรกแซง ผมกลัวสื่อของรัฐ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อทีวีให้ข่าวในแง่ลบผมตลอดเวลา แต่ผมก็เลือกที่จะมา ซึ่งมันต้องมีแรงขับอะไรที่ใหญ่มากในหมู่คนเสื้อแดงรอบนี้ ซึ่งถ้าเรามองคนเสื้อแดงโดยเอามุมมองเรื่องเสื้อ เอามุมมองเรื่องสีเหลืองสีแดงออกไป ว่านี่คือความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ใหญ่มากๆ ที่เราควรจะพิจารณามันให้ดีๆ
พิณผกา: แต่ว่าถ้าเราพูดถึงความรุนแรง มันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น?
ศิโรตม์: ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงความรุนแรง ส่วนใหญ่ที่พูดอยู่ในปัจจุบันคือการวิเคราะห์ว่าจะเกิดความรุนแรงหรือเปล่าโดยมองจากความขัดแย้งทางการเมืองแบบมหภาคเป็นหลัก คือมองว่ารัฐบาลก็อยู่ขั้วหนึ่ง เสื้อแดงคือฝ่ายทักษิณก็อยู่อีกขั้วหนึ่ง สิ่งที่คุณทักษิณต้องการไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ใช้ความรุนแรงเปลี่ยนระบบ ผมคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีมองที่เป็นคล้ายเซียนไพ่หรือเซียนฟุตบอล มองเวลาวิเคราะห์ฟุตบอลหรือเวลาวิเคราะห์หมากรุกอะไรพวกนี้ก็คือว่า เหมือนกันกับการเมืองเป็นเรื่องของเกม มันไม่ใช่เรื่องที่ว่าเราเข้าใจความรุนแรงมากเท่าไหร่
ถ้าเราจะสนใจความรุนแรงในเรื่องของการเมืองช่วง 2-3 วันนี้ ผมคิดว่าเรื่องที่เราอาจจะต้องดูคือ หนึ่งคือ เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรงจริงๆ แล้วมันมีหรือเปล่า เช่น การเผชิญหน้าระหว่างฝูงชนกับฝูงชนแต่ละกลุ่มมันมีไหม? การเผชิญหน้าระหว่างคนเสื้อแดงกับม็อบที่อาจจะมีการจัดตั้งของรัฐ หรือรอบเดือนเมษาที่หลายๆ คนพูดว่า คนเสื้อน้ำเงินหรือมือที่สามมีไหม? อันที่สองก็คือความสามารถของผู้นำการชุมนุมมันมีไหม? อันที่สามคือความสามารถของรัฐในการหลีกเลี่ยงการยั่วยุให้เกิดสถานการณ์รุนแรงมีไหม ?
แล้วผมคิดว่าในตอนนี้ถึงแม้เราจะเห็นแนวโน้มว่าจะมีอะไรแบบนี้อยู่ แต่ว่าถ้าตอบให้ชัดเจนว่ามันจะมีความรุนแรงไหม ผมคิดว่าไม่อยากจะพูดแบบนั้น ในกรณีของคนเสื้อแดงเขามีความระมัดระวังค่อนข้างสูงในการไม่ให้คนนอกเข้ามาสร้างสถานการณ์เหมือนเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในกรณีของผู้นำเสื้อแดงผมคิดว่ารอบนี้มีการพูดกันเยอะว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธี อย่างรอบเดือนเมษาพูดน้อยกว่าคราวนี้มากๆ แล้วอันหนึ่งที่ผมคิดว่าชัดเจนมากๆ คือความพยายามจะพูดเรื่องของการมีระเบียบวินัย การเคลื่อนไหวอย่างที่รับฟังผู้นำให้มากขึ้นกว่าเดิม ผมคิดว่าเราก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้น ในเดือนเมษา สำหรับคนจำนวนมากคือเสื้อแดงแพ้ แต่ว่าความพ่ายแพ้ของคนเสื้อแดงก็มีการปรับตัวของคนเสื้อแดงบางกลุ่มในการจัดการปัญหาแบบนี้ด้วยเหมือนกัน ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็คือเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา

ความรุนแรงจากรัฐบาล คือสิ่งที่ต้องกลัวมากกว่าคนเสื้อแดง

ถ้าถามว่าความรุนแรงจะมีไหม? ผมว่าสิ่งที่ผมกลัวไม่ใช่ความรุนแรงจากคนเสื้อแดง แต่ว่ากลัวความรุนแรงจากปัจจัยภายนอกคนเสื้อแดงมากว่า อันนี้ก็คือ ความรุนแรงจากรัฐบาล เวลาเราพูดถึงรัฐบาลเราต้องยอมรับว่าองค์ประกอบของรัฐบาลชุดนี้ไม่มีความเป็นเอกภาพเลย เรามีนายกฯ คือคุณอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นคนที่ผมคิดว่าโดยพื้นฐานผมคิดว่าเป็นคนไม่นิยมความรุนแรง ถ้าเทียบกับคนอื่นๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ผมก็ไม่อยากพูดเต็มปากเต็มคำเพราะมันมีหลายเรื่องที่ทำให้น่าสงสัยเหมือนกัน แต่ว่าองค์ประกอบของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดความรุนแรงมีอะไร เราได้ยินถึงการพูดในลักษณะที่ว่ามีการเผชิญหน้าตลอดเวลาจากรองนายกรัฐมนตรี จากโฆษกรัฐมนตรี จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแบบนี้ ว่าคนเสื้อแดงเป็นพวกจลาจลเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง อันนี้เป็นสิ่งที่พูดเพื่อทำให้การเผชิญหน้าทางการเมือง แล้วผมก็ไม่เข้าใจว่ารัฐบาลปล่อยให้คนแบบนี้พูดออกมาทุกวันได้อย่างไร
แล้วอันที่สองก็คือการเกิดเหตุการณ์แทรกแซงจากพวกมือที่สาม หรือว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายซึ่งเป็นคนของรัฐแต่อาจจะไม่ได้อยู่กับรัฐบาลโดยตรง นี่ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากกว่า ผมไม่คิดว่าโดยธรรมชาติของการเคลื่อนไหวมวลชนแบบเสื้อแดง จะมีความต้องการการใช้ความรุนแรงเป็นพื้นฐาน เพราะว่าประชาชนก็ไม่มีอาวุธ ถ้ามีความรุนแรงผมคิดว่ามันจะเป็นปฏิกิริยาตอบโต้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า
ผมคิดว่าเหตุการณ์เดือนเมษา ผมคิดว่าจำนวนของคนเสื้อแดง ต้องมองแบบเป็นปฏิกิริยาตอบโต้การใช้กำลังของรัฐมากกว่า แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญแล้วผมก็คิดว่าเราไม่ค่อยพูดแบบนี้เท่าที่ควร

รัฐบาลทำงานบนความแตกแยก สังคมอยู่ไม่ได้แน่หากเป็นแบบนี้

พิณผกา: อาจจะถามแบบหาเรื่องกันก็คือว่า ขณะที่คุณศิโรตม์บอกว่าแกนนำของคนเสื้อแดงจะพูดเรื่องสันติวิธีมาก แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ออกมาในสื่อ ขณะเดียวกันภาพของความรุนแรงมันกลับถูกฉายออกมาอย่างสม่ำเสมอกว่า เป็นเรื่องเป็นราว เป็นขั้นเป็นตอนมากกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาอะไรที่เกี่ยวกับเสื้อแดงมันก็จะเป็นประเด็นความรุนแรงทั้งนั้น ทั้งเรื่องเสธ.แดง ทั้งเรื่องคำพูดของคุณอริสมันต์ ทั้งเรื่องการประเมินสถานการณ์ของรัฐ ทำไมมันถึงออกมาเป็นแบบนี้?
ศิโรตม์: คือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องคิดต่อมากๆ ว่าสิ่งที่รัฐต้องการในการจัดการการชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธีระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดง เพราะฉะนั้นภาพของการทำให้คนเสื้อแดงเป็นผู้ร้ายรุนแรงมาก เราจะเห็นภาพของการที่เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้วรัฐบาลออกมาประโคมข่าวว่า คนกำลังเริ่มถอนเงินจากธนาคารแล้ว เพราะว่าถ้าเสื้อแดงมาจะมีการเผาธนาคาร จะมีการยึดธนาคาร มีการทุบตู้เอทีเอ็ม แล้วเมื่อวานนี้ก็มีข่าวที่ตลกออกมาว่า พอรัฐบาลประโคมข่าวจนคนกลัวจริงๆ เมื่อวานนี้คุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตยก็มาการให้สัมภาษณ์ว่าถ้ามีการถอนเงินหรือใครชวนให้คนอื่นถอนเงิน คือคนซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคนที่พูดมาที่สุดคือรัฐบาล
ผมคิดว่าการที่รัฐบาลรณรงค์ให้คนเกลียดเสื้อแดง ผมคิดว่าเอาประเทศชาติเป็นเดิมพันมากๆ แล้วนี่มันคือเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย ผมคิดว่าปัญหาหลักของรัฐบาลชุดนี้ในการทำงานการเมืองก็คือ ความไม่สามารถสร้างความสามัคคีของคนในชาติให้มันเกิดขึ้นมาได้จริงๆ รัฐบาลชุดนี้ทำงานบนการสร้างความแตกแยกของคนในชาติ หรือเราอาจจะพูดก็ได้ว่าสิ่งที่มันเป็นปัญหาหลักของสังคมการเมืองไทยหลังปี 49 คือรัฐบาลไทยทุกชุดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ไม่เคยจะพยายามจะสร้างการอยู่ร่วมกันกับคนอีกฝ่ายหนึ่ง นี่คือปัญหาหลักของสังคมการเมืองไทยหลัง ปี 49 ถ้ารัฐบาลของฝ่ายหนึ่งขึ้นมาก็จะทำให้มวลชนของอีกฝ่ายเป็นศัตรูของชาติ การอยู่ร่วมกันของคนในชาติ การอยู่ร่วมกันในชุมชนการเมืองอยู่ไม่ได้ถ้ารัฐทำแบบนี้
รัฐบาลที่ดีคืออะไร รัฐบาลที่ดีคือคนที่เมื่อคนในชาติมองขึ้นมารู้ว่ารัฐบาลเป็นของคนทุกคน ว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นรัฐบาลซึ่งฟังเสียงของคนทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบันนี้ รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำแบบนี้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าหลังปี 49 ไม่มีรัฐบาลไหนที่ทำแบบนี้เลย สิ่งที่คุณอภิสิทธิ์ทำก็คือ ทำสิ่งที่คุณสมัครทำกับพันธมิตร คือการทำให้รัฐบาลอยู่รอดบนการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แยกมิตรแยกศัตรู แล้วทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ ตลอดเวลา

สร้างภาพมายา สังคมไทยคือสังคมแห่งสันติ

พิณผกา: คำถามสุดท้ายคือครั้งนี้มันอาจจะเป็นครั้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็คือมีกลุ่มทางสังคมที่ออกมาแสดงความวิตกกังวลเรื่องของความรุนแรง เรื่องของต้องการสันติภาพ สันติวิธีมาก ขนาดที่ว่ามีกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมาทางสังคมออนไลน์ เช่นกลุ่ม We love Peace, We love Thai อะไรเหล่านี้ ถามคุณศิโรตม์ว่าจริงๆ กลุ่มเหล่านี้ที่เขามีความวิตกกังวลเรื่องสันติภาพในพื้นที่ทางการเมืองของสังคมไทย ถ้าเขาต้องการสันติภาพหรือความสงบเรียบร้อยในสังคมไทย เขาควรจะทำอะไร?
ศิโรตม์: สันติภาพมีหลายแบบมีหลายความหมาย สันติภาพบางแบบหมายถึงการที่คนเราไม่ตีกันเฉยๆ สันติภาพบางแบบหมายถึงการมีโครงสร้างทางกฎหมาย โครงสร้างทางการเมืองที่ทำให้คนทุกกลุ่มได้รับความยุติธรรมเท่ากัน สันติภาพบางแบบหมายถึงการมีวัฒนธรรม การมีวาทกรรมการมีความคิดที่ยอมรับว่าคนทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติถ้าเราเห็นเขาเป็นคนเหมือนๆ กัน ผมคิดว่าการพูดถึงสันติภาพของสังคมไทยทุกวันนี้มันเป็นการพูดแบบฉาบฉวย พูดถึงสันติภาพเหมือนเป็นเรื่องของเด็กสองคนมันผิดใจกันแล้วก็มาตีกัน แล้วก็ควรจะมีผู้ใหญ่ที่เป็นกลางมาห้ามไม่ให้เด็กตีกัน ความขัดแย้งของสังคมไทยไม่เคยง่ายขนาดนี้
เราเคยอยู่ในสังคมที่มีการฆ่ากันกลางเมืองมาแล้วในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เราอยู่ในสังคมซึ่งเคยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งจบลงด้วยผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งหมดต้องไปตายในต่างประเทศ ปรีดี พนมยงค์ไปตายที่ฝรั่งเศส จอมพล ป.พิบูลสงครามไปตายที่ญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นสังคมไทยไม่เคยเป็นสังคมซึ่งอยู่ร่วมกันด้วยความสันติด้วยกันจริงๆ อยู่แล้ว เวลาคนในสังคมอยากพูดเรื่องสันติภาพก็ต้องทำความเข้าใจให้มากว่า ความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมไทยมันสลับซับซ้อนแล้วเราพูดว่าทุกคนรักกันอย่าตีกัน พูดไม่ได้ ไม่ make sense ถ้าพูดแบบนี้สิ่งที่เราจะได้คือทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนดีเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเรารักสันติจริงๆ
อีกอย่างหนึ่งที่น่าประหลาดก็คือการที่เราพูดเรื่องสันติวิธี ภาพของคนต่างๆ ในเวลานี้คือมันมาโยงเรื่องความคิดที่ว่าความเป็นไทยต่างๆ คืออะไร มันมาโยงกับความคิดเรื่องไม่ใช่คนไทยคืออะไร เราจะเห็นว่ามีการรณรงค์ว่าคนไทยรักสันติภาพ คนไทยไม่ใช้ความรุนแรง คนไทยไม่ชุมนุม คำถามที่เกิดขึ้นก็คือคนที่เขาไปชุมนุมไม่ใช่คนไทยตรงไหน การรณรงค์เรื่องสันติภาพสันติวิธีบนฐานของการที่ว่าคนที่เขาชุมนุมไม่ใช่คนไทย แค่นี้มันก็คือความรุนแรงที่ใหญ่มากๆ แล้ว
เรามีเหตุการณ์หกตุลาซึ่งเกิดการฆ่านักศึกษาด้วยเหตุผลว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย แล้วความเป็นคนไทยมันอยู่ในตัวของคนไทยทุกคน การที่คนกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่งคิดว่ารักสันติ จนถือดีมาบอกว่า คนเสื้อแดงคนอื่นๆ ที่มาชุมนุมไม่ใช่คนไทยนี่มันคือการดูถูกความเป็นมนุษย์ของเขาอย่างถึงที่สุด ความเป็นคนไทยมันอยู่ที่ตัวตนของคนเรา มันไม่ได้อยู่ที่การที่เขามีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกับคนกรุงเทพฯ แล้วนั่นทำให้คนกรุงเทพฯ ว่าเขาไม่ใช่คนไทย นี่คือความรุนแรงที่ผมคิดว่ารุนแรงกว่าการตีกันบนท้องถนนด้วยซ้ำ เรามองเขาว่าไม่ใช่คนเท่าเราถึงพูดแบบนี้ได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น