ประชาธิปไตยแท้จริง คืออะไร
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองของคนไทยในขณะนี้ คนไทยถูกแบ่งออกฝักเป็นฝ่าย เช่น ฝ่ายแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือฝ่ายเสื้อเหลือง, เสื้อแดง, เสื้อขาว และเสื้อดำนั่น ทุกฝ่ายล้วนอ้างคำสำคัญเพียงถ้อยคำเดียว ได้แก่ ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นมาเมื่อกว่า 2000 ปี โดยอริสโตเติ้ล นักรัฐศาสตร์ชาวกรีกโบราณ แม้ประชาธิปไตยจะถือว่าเป็นการปกครองที่เลวน้อยที่สุดตามแนวคิดของอริสโตเติ้ล แต่กว่าที่จะนำเอาประชาธิปไตยใช้อย่างจริงจังต้องอาศัยระยะเวลานานถึงหลังศตวรรษที่ 18 หรือยุคการก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาที่นำเอารูปแบบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศจนสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาใช้รัฐธรรมนูญมาเพียงฉบับเดียว แต่ได้รับการแก้ไขกว่า 20 ครั้ง ซึ่งต่างจากประเทศไทยของเราที่มีค่าเฉลี่ย 4 ปีกว่าต่อรัฐธรรมนูญหนึ่งฉบับ
นอกจากการเป็นชาติอภิมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาแล้ว สหรัฐอเมริกายังได้ชื่อว่าเป็น ประเทศต้นแบบของการเป็นประชาธิปไตย ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนให้ความสนใจ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 นี้ การติดตามการเลือกตั้งของคนทั้งโลก ก็เพราะการเลือกตั้งเป็นรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง แต่นักการเมืองของไทยกลับปฏิเสธว่า การเป็นประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง และไม่ยอมลงสู่สนามเลือกตั้ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรหันมาทำความเข้าใจกับคำว่า “ประชาธิปไตย” ให้ถูกต้องอีกสักครั้งหนึ่ง อย่างน้อยก็ควรเป็นหน้าที่ของนักรัฐศาสตร์อย่างผมที่ต้องทำความเข้าใจกับทุกท่านในเรื่องนี้ให้มากที่สุด ประชาธิปไตยประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ อุดมการณ์ รูปแบบ และวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย
อุดมการณ์ของประชาธิปไตย ยึดหลักการ 3 แนวคิด เช่น แนวคิดเรื่องสิทธิ แนวคิดเรื่องเสรีภาพ และแนวคิดเรื่องความเสมอภาค ผมว่าทุกท่านคุ้นกับคำ 2 แรกมากในช่วงนี้ แนวคิดทั้ง 2 ล้วนคานอำนาจซึ่งกันและกัน ตัวอย่าง หากท่านชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ท่านคงเคยพบกับเหตุการณ์การคุยโทรศัพท์มือถือ หรือการพูดสอดแทรกในบทภาพยนตร์ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้ชมท่านนั่นอาจกำลังคิดว่าประเทศของเราเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเขาคนนั้นสามารถกระทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจนั่นเอง แต่แท้ที่จริงแล้วเสรีภาพของนายเอ หากล้ำสิทธิของนายบี เสรีภาพของนายเอเช่นนั้นก็จะถูกห้ามไม่ให้กระทำ ในทางกลับกันหากนายบีอ้างสิทธิของตนมากจนล้ำเสรีภาพของนายเอ สิทธิของนายบีเช่นว่านั้นก็ถูกห้ามเช่นกัน ความไม่เข้าใจแนวคิดทั้ง 2 นี้กระมังที่กำลังทำให้บ้านเมืองของเราสับสนวุ่นวาย เพราะเราต่างมักจะอ้างสิทธิและเสรีภาพกันอยู่เสมอๆ ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้เนื่องๆ เช่น การขับรถแทรกแถว การไม่ต่อแถวซื้อของ เป็นต้น
แนวคิดที่สาม เรื่องความเสมอภาคถือเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะหากมีผู้ใดไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ถือเป็นการปฏิเสธแนวคิดความเสมอภาค หรือการปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากประชาชนส่วนใหญ่ เพราะเหตุเขาเหล่านั้นไม่รู้เท่าคุณ หรือไม่ฉลาดเหมือนคุณ จนมีคำพูดว่า “คนบ้านนอกตั้งรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล” ความไม่เสมอภาคในที่นี้ หมายถึง ความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เราต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน และต้องไม่ดูถูกกัน สังคมประชาธิปไตยไม่ว่า ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร พ่อค้า นายทหาร ข้าราชการ หรือนักวิชาการก็มีศักดิ์ศรีและความเสมอภาคที่เท่าเทียมกัน
โดย, อาจารย์ธนันท์วัฒน์ สภานุรัตน์
ผู้อำนวยการ ศูนย์พัทยา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
natchanon_sap @ dusit.ac.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น