Pol Sci

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รวันดา: ภายใต้อาณานิคม : บทเรียนของโลก บทเรียนของไทย* (4)


ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ชาวยุโรปเริ่มแสวงหาช่องทางทำการค้าในทวีปต่างๆทั่วโลก  ซึ่งแอฟริกาก็เป็นพื้นอีกที่หนึ่งที่หลายๆประเทศต้องการเข้ามาครอบครอง จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 บางประเทศในทวีปยุโรปได้ตัดสินใจทุ่มเทไปกับการเข้าควบคุมอำนาจทางการเมืองในแอฟริกา  ผู้นำยุโรปและพ่อค้าวาณิชทั้งหลายเชื่อว่าแอฟริกาน่าจะเป็นแหล่งระบายสินค้าสำหรับส่งออกได้อย่างดี พร้อมกับเป็นแหล่งดูดซับทรัพยากรกลับประเทศของตน ในครั้งนั้น ทั้งสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อิตาลี โปรตุเกส สเปน และเยอรมันต่างก็แย่งชิงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อมีอำนาจเหนือภูมิภาคแห่งนี้
ดินแดนที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของแอฟริกาตะวันออกของภูมิภาคซึ่งได้รวมอาณาเขตของรวันดาในปัจจุบันและเบอรันดีรวมเป็นหนึ่งในดินแดนสุดท้ายของทวีปแอฟริกาที่ดึงดูดนักสำรวจชาวยุโรปให้เข้ามา ดินแดนบริเวณนี้แม้ไม่มีเส้นทางออกสู่ทะเลและพื้นที่ก็เต็มไปด้วยภูเขาจำนวนมากที่ยังเขียวชอุ่ม แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ การปกครองของภูมิภาคนี้โดยชาวตุ๊ดซี่เป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันการครอบงำของยุโรปเพราะมีความซับซ้อน ซึ่งชาวยุโรปพบว่าเป็นการยากที่จะเข้าไปในดินแดนนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1800 นักสำรวจชาวอังกฤษหลายคนเดินทางเข้าไปในแถบชนบทซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรวันดาในเวลาต่อมา จนกระทั่งปี 1894 นักสำรวจชาวเยอรมันชื่อ เคานท์ วอน กอทเซน ได้เข้าไปสำรวจบริเวณศูนย์กลางของภูมิภาคแห่งนี้  หลังจากนั้นยุโรปจึงเริ่มเข้ายึดครอง

การปกครองภายใต้อาณานิคมของเยอรมัน
เมื่อกลางยุค 1890 ยุโรปหลายหลายประเทศต้องการเข้าไปยึดครอง ไม่ว่าจะเป็นเบลเยี่ยม และอังกฤษก็ให้ความสนใจเนื่องจากว่าทั้งสองประเทศต่างก็มีอำนาจเหนือภูมิภาคที่อยู่ใกล้เคียงกันนี้ แต่เยอรมันเป็นประเทศแรกที่ได้เข้ายึดครองรวันดาเป็นอาณานิคมของตน หลังจากนั้นไม่กี่ปีต่อมาทั้งสามชาติยุโรปได้ถกเถียงกันถึงอำนาจเหนืออาณาเขตในแต่ละภูมิภาคที่ตนมีอำนาจในแอฟริกาเหนือ ดังนั้นจนกระทั่งปี 1910 ทั้งเยอรมัน เบลเยียมและอังกฤษตกลงกันได้ในการแบ่งอาณาเขตของภูมิภาค เยอรมันกลายเป็นผู้ปกครองอย่างเป็นทางการของภูมิภาคนี้ ซึ่งได้รวมไปถึงอาณาเขตของรวันดาและเบอรันดีในปัจจุบันด้วย ถึงแม้ว่าอาณาจักรถูกแยกออกจากกัน แต่เยอรมันได้รวมอาณาจักรทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งเรียกว่า “รูอันดา-อูรันดี” อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเป็นภูมิภาคเดียวกันแต่เยอรมันได้ปกครองรูอันดาและอูรันดีภายใต้นโยบายทางการเมืองที่แตกต่างกัน
มหาอำนาจและเจ้าอาณานิคมสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรวันดาและต่อความสัมพันธ์หว่างชาติพันธุ์ฮูตูและตุ๊ดซี่ เมื่อเยอรมันเข้าปกครองในรวันดา ก็พบว่าการปกครองแบบลำดับชนชั้นที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวตุ๊ดซี่ ตามระบบอูบูฮาเก (Ubuhake) ที่ส่งผลสนับสนุนให้ชาวตุ๊ดซี่เป็นชนชั้นที่เหนือกว่าชาวฮูตูนั้น ความเชื่อดังกล่าวนี้ไม่มีรากฐานที่มั่นคงเพียงพอ  เพราะความแตกต่างทางสถานะทางสังคมระหว่างสองกลุ่มชนเผ่า ยังประกอบด้วยเหตุอื่นด้วย โดยชาวยุโรปมีความเชื่อว่ามีเหตุมาจากทฤษฎีทางเชื้อชาติของชาวยุโรป(สีผิว)ที่ได้ทำให้ชาวตุ๊ดซี่อยู่เหนือชาวฮูตู
เยอรมันและเบลเยียมมองเห็นสังคมชาวรวันดาผ่านลักษณะทางชนเผ่าและเชื้อชาติ โดยอาศัยทฤษฎีทางเชื้อชาติของชาวยุโรปในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นการสนับสนุนความคิดที่ว่าคนคอเคซอยด์ (คนขาว) และนิกรอยด์ (คนดำ) พัฒนาแยกออกจากกันโดยคนผิวขาวเป็นผู้มีฐานะเหนือกว่าคนผิวดำสืบต่อกันมา มหาอำนาจเยอมรมันรู้สึกได้ว่าสองชนเผ่านี้ต้องมาจากเชื้อชาติที่ต่างกัน มีข้อถกเถียงกันว่าลักษณะของชาวตุ๊ดซี่มีลักษณะใกล้เคียงกับชนชาวยุโรปมากกว่าชนเผ่าแอฟริกันเผ่าอื่นๆ นักมานุษยวิทยาบางคนอ้างว่าชาวตุ๊ดซี่เป็นพวกฮามิติค ซึ่งได้รับการยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปว่าฮามิติค เป็นเชื้อชาติคอเคซอยด์ระดับล่างสุด มาจากทางเหนือเพื่อที่จะพิชิตและปกครองรวันดา บทสรุปนี้นำไปสู่การที่ชาวยุโรปตัดสินใจว่าชนชั้นชาวตุ๊ดซี่เกิดมาเพื่อปกครองชาวฮูตูและชาวทวาที่อยู่ในฐานะต่ำต้อยกว่า   และยังนำไปสู่ความเชื่อนานนมที่ว่าชาวตุ๊ดซี่รุกรานรวันดาและพิชิตกลุ่มชนอื่นๆได้ ทฤษฎีที่มหาอำนาจยุโรปที่อาศัยการเพิ่มสาระเรื่องเชื้อชาตินั้นไม่เคยมีปรากฏมาก่อน    แต่มีการเพิ่มเติมในภายหลังและเมื่อเวลาผ่านไปชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูเริ่มจะขยายความเห็นเรื่องเชื้อชาตินี้อย่างต่อเนื่อง ชาวตุ๊ดซี่ดูจะยอมรับเป็นพิเศษกับความคิดเห็นนี้เพราะเป็นทฤษฎีที่สนับสนุนอุดมการณ์ว่าตนเป็นชนชั้นนำที่เหนือกว่า ส่งผลให้เกิดความรู้สึกต้อยต่ำในหมู่ชาวฮูตู เกิดความไม่พอใจและนำไปสู่การต่อต้านชาวตุ๊ดซี่และการใช้ความรุนแรง  ผู้นำชาวฮูตูก็มีความรู้สึกโน้มเอียงไปกับทฤษฎีเชื้อชาติ และสนับสนุนแนวคิดเรื่องเชื้อชาติโดยกล่าวว่าชาวฮูตูเป็นผู้อาศัยในประเทศรวันดาที่ถูกกฎหมายเพียงชาติพันธุ์เดียวเท่านั้น แต่ชาวตุ๊ดซี่เป็นผู้รุกรานและไม่สามารถอยู่ในประเทศได้  ซึ่งต่อมานักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นว่าทฤษฎีนี้ไม่ถูกต้อง
ดอกเตอร์ ริชาร์ด คาน นักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเยอรมันให้เป็นผู้ว่าการรัฐคนแรกของรูอันดา-อูรันดี ได้ปกครองรวันดาทางอ้อม โดยอาศัยการปกครองตามระบบลำดับชั้นของชาวตุ๊ดซี่อย่างเดิมแทนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐบาลใหม่ทั้งหมด เยอรมันเองไม่ได้ส่งคนมามากมายในอาณานิคมของตน เพราะต้องใช้เงินจำนวนมากในการปกครองและต้องมีผู้บริหารหลายคน เยอรมันจึงยังคงรักษาระบบศักดินานี้ไว้ดังเดิม ดอกเตอร์ ริชาร์ด คาน ทำงานร่วมกับมวามิและชีฟของมวามิในการปกครองรวันดา โดยมอบหมายให้ชาวตุ๊ดซี่ดูแลอาณาเขตเพื่อรักษาความจงรักภักดีของประชาชนดังเดิม
นอกจากนั้นกองทหารเยอรมันก็ได้ช่วยเหลือชาวตุ๊ดซี่ในการสร้างความเข้มแข็งและแข็งแกร่งในการปกครองโดยทุ่มเทอำนาจอย่างเต็มที่เมื่อจำเป็น ตัวอย่างเช่นในปี 1912 เยอรมันมีบทบาทในการต่อต้านกบฏชาวฮูตูในตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนชาวตุ๊ดซี่ไม่เคยได้รับการยอมรับอย่างเต็มใจ ในช่วงการซ้อมรบทหารเยอรมันได้เผาบ้านเรือนของชาวฮูตู ทำลายพืชผลและฆ่าผู้นำชาวฮูตูหลายคน และด้วยการสนับสนุนทางการทหารจากเยอรมันอย่างเต็มที่ มวามิจึงมีศักยภาพในการขยายอาณาเขตและทำให้การปกครองของชาวตุ๊ดซี่ที่มีเหนือชาวฮูตูยิ่งมีความเข้มแข็งขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนต่อกันในระบบศักดินาชาวตุ๊ดซี่จึงได้สนับสนุนการบริหารของเยอรมันอย่างเต็มที่เช่นกัน
เยอรมันได้คิดแผนการในการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคขึ้นมาใหม่   แต่มีเพียงโครงการที่สำคัญบางอย่างเท่านั้นที่เป็นรูปเป็นร่าง มหาอำนาจเยอรมันได้สร้างระบบศาลอย่างง่ายๆขึ้นและสร้างเครือข่ายชุมชนเล็กๆขึ้นมาใหม่ แต่ด้วยบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเยอรมันภายในรวันดา ประเทศจึงเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเพียงน้อยนิด เยอรมันเองได้สนับสนุนให้มีการปลูกกาแฟทั้งๆที่กาแฟไม่ได้มีอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้มาก่อน แต่ต่อมาเมล็ดกาแฟเหล่านี้เองได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำเงินและสามารถส่งออกไปขายประเทศอื่นๆได้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาการของการปลูกกาแฟได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของรวันดาจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญคือได้ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราขึ้นในรูอันดา หลังจากนั้นชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ต่างก็แลกเปลี่ยนสินค้า ผลผลิต ฝูงสัตว์และแรงงานด้วยการชำระเงินต่อกันเศรษฐกิจเงินตราจึงได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
นอกเหนือจากนั้นการบริหารของเยอรมันยังเริ่มต้นบังคับให้ประชาชนของรวันดาจำต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลเยอรมันอย่างเป็นระบบ  แต่มูซิงกา มวามิของรวันดา ไม่เห็นด้วยนักและออกมาต่อต้านการเก็บภาษีนี้เพราะกลัวว่าจะเป็นการบั่นทอนอำนาจของตนที่เคยมีมาอย่างยาวนานแต่ไม่เป็นผล นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็นเพราะการเก็บภาษีแบบเยอรมันนี่เอง  ที่ทำให้ชาวฮูตูเริ่มเห็นว่าเยอรมันเป็นผู้นำผู้ปกป้องและยังเป็นกำลังที่เข้มแข็งกว่าในสังคมของพวกเขา
เยอรมันได้นำมิชชันนารีทั้งคาธอลิกและโปรเตสแตนท์เข้ามาด้วยซึ่งเป็นผู้ที่สนับสนุนให้ชาวรวันดานับถือความเชื่อและประเพณีของคริสตศาสนา ชาวรวันดาบางคนยังคงทำตามความเชื่อประเพณีดั้งเดิม แต่บางคนก็เริ่มนับถือทั้งความเชื่อของทั้งดั้งเดิมและของคริสตสนาเข้าด้วยกัน บางคนก็หันมานับถือคริสตสนา นักบวชชาวเยอรมันได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาเพื่อให้การศึกษาชาวตุ๊ดซี่ผู้มีอภิสิทธิ์ ภายใต้ระบบการศึกษาเช่นนี้ชาวฮูตูเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงโอกาสทางการศึกษารับดับมัธยมและระดับการศึกษาที่สูงกว่านั้น   ชาวตุ๊ดซี่ผู้มีอภิสิทธิ์จึงเข้าถึงและได้เปรียบจากการได้รับการศึกษาจนก้าวล้ำนำหน้าชาวฮูตูมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจึงเพิ่มทบทวีมากขึ้นไปอีก
การปกครองภายใต้อาณานิคมของเบลเยียม
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น (1914-1918) ชาวเบลเยียมผู้ยังคงให้ความสนใจในดินแดนรูอันดา-อูรันดี ทำสงครามกับเยอรมันเพื่ออำนาจการปกครองเหนือภูมิภาคนี้ ชาวตุ๊ดซี่หลายคนได้เข้าร่วมกองกำลังกับเบลเยียมต่อสู้กับเยอรมันซึ่งในขณะนั้นมีจำนวนน้อยกว่าและมีกำลังอำนาจน้อยกว่า จนกระทั่งถึงปี 1916 เบลเยียมจึงมีอำนาจทางทหารเหนือภูมิภาคนี้
เบลเยียมเองเริ่มต้องการรูอันดา-อูรันดีเพื่อที่เบลเยียมจะได้แลกเปลี่ยนดินแดนนี้กับพื้นที่ที่อังกฤษครอบครองอยู่ แต่ความพยายามนี้ล้มเหลวเพราะองค์การสันนิบาตชาติ(สหประชาชาติ)ก่อตั้งโดยนานาชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อรักษาสันติภาพของโลกไม่เห็นด้วย  แต่ได้ให้ดินแดนรูอันดา-อูรันดีแก่เบลเยียมภายใต้คำสั่งสหประชาชาติ (คำสั่งอย่างเป็นทางการ) คำสั่งนี้กำหนดว่าเบลเยียมจำต้องรักษาการในดินแดนนี้และจำต้องสร้างรัฐบาลที่สมดุลซึ่งทั้งชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่เป็นตัวแทนปกครองร่วมอยู่ด้วย และเบลเยียมก็ยังต้องพัฒนาการศึกษาและระบบสุขลักษณะของภูมิภาคนี้อีกด้วย ภายในกลางยุค 1920 เบลเยียมได้ยอมรับผิดชอบอย่างเป็นทางการในการเข้าดูแลรูอันดา-อูรันดี
เบลเยี่ยมได้ว่าจ้างผู้ร่างนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับเยอรมันเคยทำนั่นคือปกครองโดยผ่านระบบศักดินาของชาวตุ๊ดซี่และใช้ระบบปกครองลำดับชั้นนี้บังคับใช้นโยบายของตน เบลเยี่ยมพบว่าการปกครองเช่นนี้มีประสิทธิภาพมากเพราะว่าประชาชนนั้นกระจัดกระจายไปทั่วดินแดนทำให้การติดต่อสื่อสาร การเดินทางล่าช้าและยากลำบาก เบลเยียมก็กระทำการเช่นเดียวกับเยอรมันนั่นคือยังให้การสนับสนุนชาวตุ๊ดซี่มากกว่าและอนุญาตให้ชนเผ่านี้เป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง สังคม    พวกเขาเชื่อว่าชาวตุ๊ดซี่ดีกว่าชาวฮูตูและควรจะได้ปกครองเพราะ “ความเหนือกว่าทางด้านสติปัญญาที่ไม่อาจปฏิเสธได้”และ “ความสามารถในการปกครอง” เบลเยี่ยมให้อภิสิทธิ์แก่ชาวตุ๊ดซี่ให้ยังคงเป็นผู้มีอำนาจในการปกครอง ขณะที่เจ้าอาณานิคมพยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ เท่านั้น
เบลเยียมได้เริ่มนำการปฏิรูปในระบบการเมืองและขยายอำนาจของตนในภูมิภาคนี้ เพื่อต้องการนำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเข้ามาซึ่งจะทำให้บริหารรวันดาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังเชื่อว่าชาวตุ๊ดซี่ควรได้เป็นชนชั้นปกครอง เบลเยี่ยมได้เปลี่ยนแปลงระบบอูบูฮาเก (Ubuhake) เพื่อที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ให้ลดน้อยลง โดยได้ลดจำนวนวันทำงานที่ไพร่ชาวฮูตุจะต้องทำงานให้แก่เจ้านายชาวตุ๊ดซี่ จากสองวันเป็นหนึ่งวันต่อสัปดาห์ และยังได้ยกเลิกอำนาจของมวามิบางส่วนด้วย นอกจากนั้นยังมีการยกเลิกส่วยทั้งหมดยกเว้นส่วยที่จะต้องส่งให้แก่มวามิ ดังนั้นเจ้านายไม่จำต้องเก็บส่วยจากไพร่ผู้อยู่ในความปกครองของตนอีกต่อไป เบลเยียมหวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายใต้อาณานิคมนี้ได้
ในขณะเดียวกันเบลเยียมได้ทำให้การปกครองของชาวตุ๊ดซี่เข้มแข็งขึ้นมากกว่าที่เยอรมันเคยได้ทำไว้ เพราะได้รวมตำแหน่งชีฟดินแดน ชีฟปศุสัตว์และผู้บัญชาการกองกำลังทหารไว้ในตำแหน่งเดียว โดยวิธีนี้ได้สร้างระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและรวบรัดกว่าเดิมขึ้น จากนั้นเบลเยียมได้ทำให้ตำแหน่งชีฟและรองชีฟทางตอนเหนือที่เป็นชาวฮูตู หมดอำนาจไปและแทนที่ด้วยชาวตุ๊ดซี่   เบลเยียมยังสนับสนุนให้บุตรชายชองชีฟชาวตุ๊ดซี่และรองชีฟให้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้มีระดับการศึกษาสูงขึ้นเป็นประโยชน์ต่อรัฐในการเข้ารับราชการ ขณะเดียวกันเบลเยียมยังคงปฏิเสธมิให้ชาวฮูตูได้เข้าถึงการศึกษา ตัวเอย่างเช่นในปี 1925 โรงเรียนนยานซาเพื่อบุตรชายของชีฟ (Rwanda’s Nyanza Ecole pour fils des Chefs) โรงเรียนรัฐบาลในเมืองนยานซามีนักเรียน 349 คนทั้งหมดเป็นชาวตุ๊ดซี่ นโยบายนี้ยิ่งทำให้ตำนานความเป็นชนชั้นสูงสุดของชาวตุ๊ดซี่ ยิ่งแตกต่างกับชาวฮูตูมากขึ้น
ในช่วงที่มหาอำนาจมีอำนาจเหนือรูอันดา-อูรันดี เบลเยียมไม่ได้ขยายอาณาเขตมากเท่าที่ชาติยุโรปอื่นได้ขยายดินแดนในอาณานิคมแอฟริกัน โครงสร้างพื้นฐานของรวันดาก็ได้รับการสนใจไม่มากนัก แม้มีการสร้างระบบขนส่งขึ้นมาแต่ไม่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมหรือการผลิตแต่อย่างใด เบลเยียมเลือกที่จะมุ่งเป้าไปที่การใช้ประโยชน์จากการดูดซับทรัพยากรของอาณานิคมแทน โดยการขนวัตถุดิบทางเรือ เช่น ชา กาแฟ พืชผล แร่ธาตุ ไปจำหน่ายที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ
ภาวะอดอยากในปี 1928-1929 ได้ทำให้ชาวรวันดาเสียชีวิตจำนวน 5 หมื่นคนเป็นการบีบคั้นให้เบลเยียมต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาบางอย่าง ด้วยความหวังที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของรวันดาและทำให้อาณานิคมกลายเป็นชาติที่พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เบลเยียมจึงได้สนับสนุนการพัฒนาทางการเกษตรและการปลูกพืชทางเศรษฐกิจ โดยหวังว่าดินแดนนี้จะมีความสามารถในการผลิตอาหารที่มากเกินพอเพื่อที่ว่าหากเมื่อปีไหนเก็บเกี่ยวได้น้อย รวันดาจะไม่ต้องพึ่งพาเบลเยียมหรือประเทศอื่นในด้านอาหาร การผลิตกาแฟได้เพิ่มขึ้นเพื่อที่รวันดาสามารถได้รับรายได้จากการส่งออก แต่เนื่องจากว่าการเตรียมดินสำหรับเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นดินแดนที่เคยอุดมสมบูรณ์ทำงานหนักจนเกินไปและท้ายที่สุดทำให้การผลิตลดน้อยลง
ดังนั้นเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดเป้าหมายในการให้อาณานิคมพึ่งตนเองได้ เบลเยียมได้ก่อตั้งระบบการเก็บภาษีขึ้นมาใหม่ซึ่งต้องการให้ชายชาวฮูตูแต่ละคนปลูกพืชที่ไม่ได้ขึ้นตามฤดูกาลภายในที่ดิน 20 เอเคอร์นอกเหนือจากที่ดินที่พวกเขาสามารถเก็บเกี่ยวเพื่อบริโภคเอง เบลเยียมยังทำให้ชีฟชาวตุ๊ดซี่บังคับใช้นโยบายนี้ในหมู่ประชาชนก่อให้เกิดระบบทาสถูกกดขี่ขึ้น หากชาวฮูตูไม่สามารถผลิตพืชผลให้ได้ตามที่ต้องการ เบลเยียมก็จะลงโทษชีฟชาวตุ๊ดซี่ ระบบนี้ได้กดดันให้ชีฟหาทางทำให้แน่ใจว่าประชาชนชาวตุ๊ดซี่   และฮูตูเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากพอ ดังนั้นในบางครั้งชีฟได้ทำร้ายร่างกายชาวฮูตูเพื่อบังคับให้ทำงาน ชีฟชาวตุ๊ดซี่หลายคนที่ถือเอาประโยชน์จากโอกาสนี้โดยยังคงให้ไพร่ที่อยู่ในการปกครองส่งส่วยให้แก่ตน นโยบายของเบลเยี่ยมยิ่งส่งผลให้ประชาชนชาวฮูตูกลับยากจนลงเรื่อยๆ แต่อภิสิทธิ์ชนอย่างชาวตุ๊ดซี่ กลับร่ำรวยขึ้นตามลำดับ
การบริหารของเบลเยียมยังต้องการให้ชาวฮูตูทำงานให้กับรัฐบาลเพื่อที่จะพัฒนาอาณานิคม แรงงานซึ่งถูกควบคุมด้วยชีฟ และทำงานอย่างหนักหน่วงทำให้ชาวนาต้องออกจากนาของตนและถูกขู่เข็ญเอาผลผลิต ในหมู่บ้านหนึ่งซึ่งมีประชากรจำนวน 2,024 คน ประชากรจำนวน 1,375 คนกลับต้องทำงานให้กับรัฐบาลทุกวัน ในขณะที่การบริหารของเบลเยียมได้กดดันให้ชีฟบังคับให้ชาวฮูตูทำงานหนักแล้วเบลเยียมยังสร้างการกลไกแบ่งแยกระหว่างสองชนเผ่าให้ถ่างออกจากกันอีกด้วย แต่แทนที่ชาวฮูตูจะเกลียดชังเบลเยียมกลับรู้สึกเกลียดชังชีฟที่บังคับตามนโยบายอาณานิคมอันเข้มงวดนี้มากกว่า
นโยบายอาณานิคมของเบลเยียมยิ่งเน้นความแตกต่างทางสังคมระหว่างชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูมากขึ้นไปอีก ความเคียดแค้นเกลียดชังได้ขยายตัวและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อฝ่ายบริหารของเบลเยียมได้ประกาศให้ประชาชนที่มีวัว 10 ตัวหรือน้อยกว่าให้ถือว่าเป็นชาวฮูตู และบัตรประจำตัวประชาชนต้องระบุว่าเป็นคนของชาติพันธุ์ไหนเป็นอีกขั้นหนึ่งที่ทำให้ความเกลียดชังเติบโตขยายตัวมากขึ้น บัตรประชาชนนี้ได้ทำให้รวันดาจากที่เคยมีความยืดหยุ่นในการแบ่งแยกทางสังคมกลายเป็นการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์อย่างรุนแรง บุคคลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเผ่าพันธุ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกต่อไป
เบลเยียมชื่นชอบชนชั้นสูงชาวตุ๊ดซี่มากกว่าและได้แสดงออกในหลายวิธีด้วยกัน ภายในต้นยุค 1940 ความชื่นชอบนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแพร่หลาย ช่วงก่อนที่จะอยู่ภายใต้มหาอำนาจยุโรป ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่มีชีวิตอยู่ร่วมกันภายในระบบลำดับชั้นอย่างหลวมๆซึ่งอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นและละทิ้งเชื้อชาติเดิมได้ แต่เมื่อนโยบายของเบลเยียมเข้ามาบังคับใช้ได้สร้างระบบสังคมที่ลักษณะทางชนเผ่าและกลายเป็นตัวชี้ระดับการศึกษา อาชีพและความเป็นอยู่ของบุคคล เป็นเพราะชาติพันธุ์นี่เอง ชาวตุ๊ดซี่จึงกุมความมั่งคั่งและอำนาจไว้เกือบทั้งหมด ส่วนชาวฮูตูนั้นได้รับการยัดเยียดว่าอยู่ในฐานะต่ำต้อยกว่า จนรู้สึกโกรธเคืองและคับแค้นใจตลอดมา
เบลเยียมสร้างความเปลี่ยนแปลง
ในปี 1945 สหประชาชาติซึ่งเป็นองค์กรเข้าแทนที่องค์การสันนิบาตชาติ ทำให้รูอันดา-อูรันดีเป็นดินแดนที่มีความน่าเชื่อถือ ในปี 1946 เบลเยียมยังคงเป็นผู้บริหารภายในดินแดนรวันดาซึ่งได้รับการคาดหวังว่าจะมีการปฏิรูปทางด้านสังคม การศึกษา และการเมืองมากกว่านี้ เบลเยียมจำต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเพื่อที่จะทำให้ชาวฮูตูได้รับประโยชน์ และลดสิทธิของชาวตุ๊ดซี่เพื่อให้ชาวฮูตูได้รับการศึกษามากขึ้น สหประชาชาติเองได้ให้แผนการแก่เบลเยียม เพื่อเป็นแนวทางการปฏิรูปทางการเมืองในรวันดา ซึ่งแผนการระบุว่าพลเรือนชาวฮูตุและชาวตุ๊ดซี่ควรจะร่วมรับผิดชอบและปกครองดินแดนนี้ด้วยกัน แผนพัฒนา10ปีได้มีขึ้นในปี 1952 และเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นเพื่อต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดได้เริ่มขึ้นเมื่อมิชชันนารีชาวเบลเยียมซึ่งเห็นการกดขี่ข่มเหงมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มหันมาต่อต้านการกดขี่ที่มีต่อชาวฮูตู มิชชันนารี สนองการเรียกร้องของสังคมโดยให้ปฏิรูปการศึกษา   โรงเรียนคาธอลิกเริ่มเปิดรับนักเรียนทั้งชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ในระดับประถม เข้าเรียน ภายในยุค 1950 ชาวฮูตูจำนวนมากขึ้นได้รับโอกาสให้ได้รับการศึกษาและเปิดกว้างต่อความคิดใหม่ๆ และคิดกันว่าระบอบประชาธิปไตย อิสรภาพและความเท่าเทียมกันเท่านั้นที่จะส่งผลดีต่อชาวฮูตู
ในปี 1952 มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง เพื่อที่จะเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมในรัฐบาล ฝ่ายบริหารของเบลเยียมจึงกำหนดให้ชีฟและรองชีฟจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแทนที่จะเป็นการแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหารของเบลเยียม ภายในปี 1956 ชายที่มีอายุเป็นผู้ใหญ่มีสิทธิได้เลือกตั้งและชาวฮูตูบางคนได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งระดับล่างของรัฐ บางคนก็ได้รับเลือกให้เป็นรองชีฟ ถึงแม้รวันดาจะยังคงอยู่ภายใต้การปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่  แต่การปฏิรูปของเบลเยียมก็ได้ทำให้ชาวฮูตูบางคนมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองของอาณานิคม
เพื่อที่จะรักษาสมดุลอำนาจและความมั่งคั่งของพลเมืองชาวรวันดา เบลเยียมได้ยกเลิกระบบอูบูฮาเก มีการแจกจ่ายฝูงสัตว์แก่ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ แต่กระนั้นก็ตามชาวตุ๊ดซี่ก็ยังคงเป็นผู้ควบคุมการครอบครองที่ดินเป็นหลัก ดังนั้นชาวฮูตูจึงยังคงต้องพึ่งพาชาวตุ๊ดซี่ เพราะพวกเขาก็ยังคงต้องการที่ดินเพื่อเลี้ยงฝูงสัตว์และทำการเกษตร เมื่อที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ   ชาวตุ๊ดซี่จึงยังคงมีอำนาจเหนือชาวฮูตูอยู่เช่นเดิม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ชาวตุ๊ดซี่มีเหนือกว่าต่อชาวฮูตู เพราะชาวฮูตูคงต้องพึ่งพาชาวตุ๊ดซี่ จนแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น
ถึงแม้ว่าจะพยายามให้ชาวฮูตูพึงพอใจในเรื่องความเท่าเทียมกัน การปฏิรูปของเบลเยียมกลับทำให้ชาวฮูตูระดับกลางที่ได้รับการศึกษาไม่พอใจกับบทบาทอันน้อยนิดของตนในสังคม เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เบลเยียมมีความสำคัญขึ้นมา ภายในช่วงปลายของยุค 1950 ชาวฮูตูผู้ได้รับการศึกษาหลายคนพบว่าพวกเขาได้รับโอกาสทางสังคมและทางการเมืองน้อย เพราะยังคงถูกควบคุมโดยชาวตุ๊ดซี่  และไม่มีทีท่าว่าจะสละอำนาจของตน ชาวฮูตูจำนวนหนึ่งที่ได้รับตำแหน่งเริ่มที่จะเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางสังคมและการเมืองมากขึ้นในรวันดา เพื่อที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงพวกเขาเชื่อว่าต้องหาวิธีการท้าทายชาวตุ๊ดซี่ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง
การเคลื่อนไหวและขยายตัวของขบวนการชาวฮูตู
ชาวฮูตูที่ได้รับการศึกษาสองกลุ่มมีส่วนช่วยในการเติบโตของขบวนการการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมกันทางการเมืองในหลายๆวิธี กลุ่มแรกมีเป้าหมายในการล้มเลิกอำนาจปกครองของชาวตุ๊ดซี่ที่มีเหนือชาวฮูตู ชาวฮูตูเหล่านี้โดยหลักแล้วสนใจในการแบ่งปันอำนาจในตำแหน่งของชีฟและรองชีฟเท่านั้นโดยไม่ได้มุ่งหมายในการล้มล้างอำนาจในระบบลำดับชั้น ส่วนกลุ่มที่สองซึ่งเชื่อว่าการแบ่งปันอำนาจนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จึงได้ร่วมกับนักบวชในการช่วยกันสร้างจิตสำนึกในชาติพันธุ์ให้ให้ชาวฮูตูมีความรู้สึกต่อต้านและเกลียดชังชาวตุ๊ดซี่  ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ได้แพร่ขยายไปในแถบชนบททั่วทั้งรวันดาในเวลาต่อมา
ผู้คนที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปทางการเมือง สังคม และการแบ่งปันอำนาจมักจะพบโดยทั่วไปทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ ส่วนทางตอนเหนือของรวันดาพลเมืองชาวฮูตูส่วนใหญ่ไม่ได้ให้การสนับสนุนระบบการปกครองของชาวตุ๊ดซี่อยู่แล้ว ความรู้สึกต่อต้านเกลียดชังชาวตุ๊ดซี่ ก็ยิ่งขยายตัวและเติบโตขึ้นเรื่อยๆจนนำไปสู่การก่อจลาจล  ทั้งนี้เพราะมีพื้นฐานมาจากความเกลียดชังทางด้านชาติพันธุ์ ชาวฮูตูในภูมิภาคนี้ซึ่งเกลียดชังการปกครองของชาวตุ๊ดซี่และชาวยุโรปมาแต่เดิมแล้วต้องการให้กำจัด “คนต่างชาติ”เหล่านี้ออกจากประเทศ ดังนั้นภายในรวันดามีการเคลื่อนไหวต่อต้านชาวตุ๊ดซี่ที่ชัดเจนอยู่สองกลุ่มในระยะเวลาเดียวกัน และทั้งสองกลุ่มต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะลดบทบาทและกำจัดการปกครองโดยชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่ลง
บทบาทของโบสถ์คาธอลิค
ถึงแม้ว่าผู้นำโบสถ์ช่วงแรกจะชื่นชอบชาวตุ๊ดซี่ และเปิดทางให้เป็นผู้นำ แต่เมื่อถึงยุค 1950 โบสถ์โรมันคอธอลิคเริ่มมีบทบาทในฐานะเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือชาวฮูตูเพื่อให้มีอำนาจควบคุมภายในประเทศแทน นักบวชหลายคนเห็นใจชาวฮูตูและเริ่มใช้อิทธิพลของตนในการสนับสนุนแนวทางของชาวฮูตู  นักบวชชาวเบลเยียมได้ฝึกฝนชาวฮูตูให้เป็นนักบวชและปลูกฝังชาวฮูตูถึงการนับถือตนเองและความคิดเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกันของมนุษย์  โบสถ์ยังให้การสนับสนุนด้านการเงินทางอ้อมแก่ชาวฮูตูอีกด้วยเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวฮุตูสามารถเดินทางทั่วยุโรป ในระหว่างที่เดินทางพวกเขาได้อธิบายสถานการณ์ให้ประชาชนที่มีศักยภาพฟังเพื่อให้จะได้รับการสนับสนุนทางการเมืองและทางการเงิน ผู้นำชาวฮูตู เช่น เกรกัวร์ คายิบานดา เริ่มมีความสัมพันธ์ กับโบสถ์ และหนังสือพิมพ์หลายแห่งซึ่งสมารถใช้เป็นกระบอกเสียงในการเสนอแนวคิด ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการกดขี่ของชาวตุ๊ดซี่ ที่มีต่อชาวฮูตูและเพื่อขอการสนับสนุนจากผู้นำชาวเบลเยียมและจากชาวฮูตูคนอื่นๆ จนนักบวชชาวตุ๊ดซี่เริ่มแสดงการลุกฮือคุกคามนักบวชคาธอลิค ชาวเบลเยียมตามมา
ด้วยการสนับสนุนจากโบสถ์คาธอลิค ทำให้การต่อต้านรัฐบาลของชาวฮูตูได้เริ่มท้าทายการปกครองของชาวตุ๊ดซี่อย่างต่อเนื่อง นายเกรกัวร์ คายิบานดา ปราชญ์ของชาวฮูตูรวมทั้งผู้นำชาวฮูตูคนอื่นๆได้เป็นกระบอกเสียงที่ดีให้กับชาวฮูตู ถึงเงื่อนไขและความกังวลในเรื่องบทบาททางด้านสังคมและการเมืองของชุมชนชาวฮูตูและเกี่ยวกับทัศนิคติต่างๆที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ระหว่างอภิสิทธิ์ชนชาวตุ๊ดซี่กับชาวฮูตู  โดยในเดือนมีนาคมปี 1957 คายิบานดาและผู้สนับสนุนได้กล่าวแถลงการณ์เรื่องบาฮูตู ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงถึงการต่อต้านอย่างรุนแรงต่ออำนาจทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของชาวตุ๊ดซี่ เอกสารนี้แสดงถึงความไม่ยุติธรรมต่างๆนาๆ ที่ชาวตุ๊ดซี่ผู้ซึ่งมีจำนวนเพียง 15% ของประชาชนทั้งหมดได้มีอำนาจควบคุมทุกวิถีทางในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง แถลงการณ์นี้กล่าวประณามการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนเนื่องจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และต้องการให้โอกาสทางการเมืองแก่ชาวฮูตูมากขึ้น การเคลื่อนไหวได้เริ่มต้นขึ้นโดย คายิบานดาเรียกว่า“การปฏิรูปทางด้านสังคมและการเมือง”และมีเป้าหมายเพื่อที่จะนำประเทศไปสู่สังคมประชาธิปไตย อิสรภาพและเท่าเทียมกัน
ในขณะเดียวกันอภิสิทธิ์ชนชาวตุ๊ดซี่เริ่มกังวลเกี่ยวกับการปฏิรูปของเบลเยียมและการขยายตัวของขบวนการต่อต้านโดยชาวฮูตู เพราะเกรงว่าฝ่ายตนจะสูญเสียอำนาจ ดังนั้นเพื่อเป็นการชวนเชื่อและตอบโต้แถลงการณ์บาฮูตู สภาสูงของประเทศและกลุ่มคนซึ่งประกอบด้วยปราชญ์ชาวตุ๊ดซี่ รวมทั้งสมาชิกจากศาลตุ๊ดซี่ได้ออกแถลงการณ์ในปี 1957 โดยแถลงการณ์นี้ได้กล่าวถึงแผนการที่จะนำประเทศไปสู่การเป็นชาติที่ไม่พึ่งพาใครและก่อตั้งรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตามรัฐบาลใหม่ที่ได้นำเสนอนั้นก็ยังประกอบด้วยเฉพาะนักการเมืองชาวตุ๊ดซี่เท่านั้น นอกจากนั้นยังนำเสนอในแถลงการณ์ในลักษณะดูถูกดูแคลนและเหยียดหยามชาวฮูตูด้วยว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่คงเป็นได้แค่เพียงเจ้านายและไพร่เท่านั้นไม่มีวันที่ชาวฮูตูจะมีความเท่าเทียมหรือแบ่งปันอำนาจจากชาวตุ๊ดซี่ไปได้”
เพื่อเป็นการยืนยันหลักการของรัฐบาลตุ๊ดซี่ ที่มีอำนาจปกครองในขณะนั้น โดยในปี 1958 ชาวตุ๊ดซี่ได้ตำแหน่งชีฟ 42 จาก 45 ตำแหน่ง ส่วนที่เหลืออีก 3 ตำแหน่งปล่อยให้ว่างโดยไม่แต่งตั้งผู้ใด และได้ตำแหน่งรองชีฟ 549 จาก 559 ตำแหน่ง นอกจากนั้นยังมีบทบาทเข้าไปมีตำแหน่งอำนาจ 82% ของตำแหน่งในระบบศาล เกษตรกรรมและสัตวแพทย์ จากเหตุดังกล่าวนี้ทำให้การเป็นตัวแทนที่ปราศจากความเท่าเทียมกันจากสองชนเผ่ากลายเป็นหัวข้อสำคัญในการสนทนาและการโต้เถียงกัน ชาวฮูตูเพิ่มจำนวนมากขึ้นเริ่มที่มีปากเสียงสู่สาธารณชนแสดงความคิดเห็นต่อการกดขี่และต้องการมีผู้แทนที่เท่าเทียมกัน ผู้นำชาวฮูตูได้เสนอความคิดเห็นของตนต่อมวามิและต่อสภาสูงแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ เพราะฉะนั้นชาวฮูตูจำนวนมากเริ่มจะเชื่อว่าพวกเขาคงไม่มีโอกาสได้มีอำนาจปกครองร่วมกับชาวตุ๊ดซี่เป็นแน่
ณ ช่วงเวลานั้นเบลเยียมเองก็มีเริ่มเห็นความเป็นไปต่างๆมากขึ้น เริ่มไม่พอใจที่ชาวตุ๊ดซี่ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ตนเคยให้การสนับสนุนและให้การศึกษาเพื่อไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นๆ  แต่กลับสร้างความขัดแย้งอย่างไม่ลดละ ดังนั้นเบลเยียมจึงเริ่มหันมาเอาใจใส่ให้ความสำคัญชาวฮูตู เริ่มปลูกฝังอิทธิพลทางความคิดในหมู่ชาวฮูตูที่ได้รับการศึกษาโดยการกล่าวถึงความเชื่อที่พึ่งค้นพบใหม่ ในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย การปกครองโดยคนหมู่มาก ทำให้ผู้นำชาวตุ๊ดซี่เริ่มรู้สึกกังวลว่าสังคมอาจจะถึงเวลาการเปลี่ยนแปลงหลายๆด้าน และแสดงถึงทัศนคติใหม่ที่เกิดขึ้นกับชนชั้นตน ซึ่งนั่นหมายถึงเบลเยียมเริ่มจะชื่นชอบชนชั้นชาวฮูตู ขึ้นบ้างแล้ว
ความตึงเครียดขยายตัวเพิ่มขึ้น
การปกครองที่ปราศจากความยุติธรรม ยิ่งทำให้ช่วงเวลานั้นพรรคการเมืองใหม่หลายๆพรรคและองค์กรหลายๆองค์กรเริ่มที่จะก่อการคัดค้านการปกครองของชาวตุ๊ดซี่ รวมถึงองค์กรเพื่อสังคมที่ดีกว่า ของมาส (Association for the Social of the Masses-aka-APROSOMA ในชื่อย่อภาษาฝรั่งเศส) ซึ่งประณามการปกครองของชาวตุ๊ดซี่  กลุ่มคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่า และกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดซึ่งมีอิทธิพลที่สุดกลุ่มหนึ่งคือพรรคต่อสู้เพื่ออิสระ (Party of the Hutu Emancipation Movement-PARMEHUTU ในชื่อย่อภาษาฝรั่งเศส) นำโดยเกรกัวร์ คายิบานดา พรรคการเมืองนี้มุ่งหมายต้องการให้ยุติการปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่และระบบศักดินา หลังจากนั้น เพื่อเป็นการโต้ตอบพรรคการเมืองและกลุ่มองค์กรทั้งหลายนี้ ผู้นำชาวตุ๊ดซี่ได้ก่อตั้งพรรคชาติรวันดา (UNAR ในชื่อย่อภาษาฝรั่งเศส) เพื่อเป็นองค์กรที่สนับสนุนระบบปกครองลำดับชั้นของตนที่ดำรงอยู่ และต่อต้านเบลเยี่ยมที่เริ่มหันมาเอาใจชาวฮูตู
กิจกรรมทางการเมืองที่เริ่มจะขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆได้ทำให้ระดับความตึงเครียดสูงขึ้นตามลำดับ เบลเยียมได้สั่งห้ามการประชุมทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อจะทำให้ความตึงเครียดลดระดับลง  และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์อันตรายจากความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ความพยายามของเบลเยี่ยมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในเดือนตุลาคมของปี 1959 ผู้สนับสนุนพรรคชาติรวันดา (UNAR)    ได้นำเหตุของการรณรงค์การคุกคามพรรคการเมืองชาวฮูตูมาใช้จนนำไปสู่การแตกหักครั้งสุดท้ายระหว่างชาวตุ๊ดซี่และฝ่ายบริหารของเบลเยียม หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายนปี 1959 สมาชิกของ UNAR ได้โจมตีรองชีฟชาวฮูตูผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของ PARMEHUTU   และเมื่อมีเพียงด้วยข่าวลืออย่างแพร่หลายทั่วไปว่าชีฟชาวฮูตูถูกฆ่า  ทำให้ผู้สนับสนุน PARMEHUTU แก้แค้นโดยการฆ่าสมาชิกของพรรค UNAR ของชาวตุ๊ดซี่ จำนวน 2 คน และเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์จลาจลและความรุนแรงได้เกิดขึ้นไปทั่วรวันดา กลุ่มชนชาวตุ๊ดซี่ได้โจมตีและฆ่าสมาชิกของ PARMEHUTU  อย่างต่อเนื่อง   เพื่อเป็นการโต้ตอบการโจมตีของชาวตุ๊ดชี่ ชาวฮูตูทั่วทั้งประเทศได้เริ่มออกปล้นสดมภ์และเผาบ้านเรือนของชาวตุ๊ดซี่จนเสียหาย ฆ่าพลเรือนชาวตุ๊ดซี่หลายพันคนและขับไล่ให้ออกนอกประเทศ
สิบปีแห่งความเคียดแค้นที่ฝังรากลึกจากความอยุติธรรมได้ระอุจนระเบิดด้วยความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่โดยตรง การปฏิรูปเพื่อความเสมอภาคของชาวฮูตูได้เริ่มขึ้น ณ บัดนั้น......

ที่มา :
http://www.prachatai.com/journal/2012/12/44167

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น