Pol Sci

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สถานะใหม่ของปาเลสไตน์ในสหประชาชาติกับผลที่จะได้รับ


สมหวังเป็นที่เรียบร้อยสำหรับปาเลสไตน์ในการขอการรับรองสถานะของรัฐสังเกตการณ์ที่ไม่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ (non-member observer state) ด้วยคะแนนโหวตท่วมท้น สนับสนุน 138 คัดค้าน 9 งดออกเสียง 41 ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา อันถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในทางการทูต แต่ผลที่จะเกิดขึ้นกับสภาพชีวิตและสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเป็นที่ติดตามกันต่อไปว่าความสำเร็จครั้งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จในการยอมรับให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐสมาชิกของสหประชาชาติอย่างสมบูรณ์ได้หรือไม่ และจะมีผลกระทบอย่างไรต่อสถานะและท่าทีของอิสราเอลหลังจากนี้

แม้ปาเลสไตน์จะยังไม่ได้รับสถานะความเป็นรัฐสมาชิกของสหประชาชาติที่ได้รับการรับรองอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเอง รวมทั้งไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจของปาเลสไตน์มากนัก ดังที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลได้เน้นยำ้ทั้งก่อนและหลังการลงมติ แต่ในเชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการทูตในเวทีการเมืองระหว่างประเทศนั้นถือว่าเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกหน้าหนึ่งสำหรับการต่อสู้คัดง้างกับจุดยืนสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ตามสถานะใหม่ของปาเลสไตน์ที่น่ายินดีนี้ไม่ได้มีแค่ฉากเบื้องหน้า ที่เป็นความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่เต็มไปด้วยเกมการเมืองทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังชั่วโมงของการลงมติที่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างหลากหลาย
ปาเลสไตน์ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในสหประชาชาติมาตั้งแต่ ค.ศ.1974 ซึ่งสถานภาพที่ได้รับคือ "entity” ที่ไม่ใช่ "state" โดยมีฐานะเพียงแค่องค์กรตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ที่ทำหน้าที่สะท้อนประเด็นปัญหาและเรียกร้องสิทธิเกี่ยวกับกรณีปาเลสไตน์ต่อสหประชาชาติ แต่ไม่มีอำนาจในการรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเอง เพราะเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอล และองค์กรที่ได้รับที่นั่งผู้สังเกตการณ์ในเวลานั้นคือ องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ PLOซึ่งภายหลังก็เปลี่ยนเป็นPalestinian Authority (PA) และในเดือนตุลาคมปี 2011 ก็ได้มีการรณรงค์เคลื่อนไหวโดยประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส เพื่อขอปรับสถานะเป็นสมาชิกเต็มตัวของสหประชาชาติ แต่ก็ไม่ผ่านมติที่ประชุม จนกระทั่งมีการเสนอแผนใหม่คือ การยกระดับจาก "entity” ตัวแทนองค์กรบริหารของปาเลสไตน์ มาสู่ "state” หรือรัฐ แต่ยังคงสถานะของผู้สังเกตการณ์อยู่ และไม่ได้มีสถานะเป็น "รัฐสมาชิก" ที่ได้รับการรับรองความเป็นรัฐ (recognition of statehood) จากชาติสมาชิกให้มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนตนเอง ทั้งนี้มีสถานะเท่าเทียมกับสำนักวาติกันที่เป็นอีกรัฐหนึ่งที่ได้สถานะรัฐสังเกตการณ์ที่ไม่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ
ผลจากการยกสถานะ
สถานะของรัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่เป็นสมาชิกสหประชาชาตินั้น หากพิจารณาในเชิงอำนาจและพลังการต่อรอง ถือว่าไม่ได้มีผลมาก ดังที่ ซูซาน ไรซ์ ทูตสหรัฐฯ  ประจำสหประชาชาติกล่าวในที่ประชุมหลังจากรับทราบผลในทำนองว่าสถานะที่ได้รับนี้ไม่ได้มีผลอะไรมากในพื้นที่จริง "ในวันพรุ่งนี้ ชาวปาเลสไตน์ตื่นมา เขาก็จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิม" และกลายเป็นประโยคที่ได้ถูกกล่าวซ้ำและย้ำโดยอิสราเอลและสหรัฐฯ ในการให้สัมภาษณ์หลังการลงมติ และที่สำคัญคือ สถานะใหม่นี้ยังไม่สามารถให้หลักประกันว่าจะได้รับการรับรองความเป็นรัฐหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลรวมทั้งประเทศในยุโรปหลายประเทศยืนยันเสียงแข็งมาโดยตลอด 
สิทธิทางกฎหมายของปาเลสไตน์
สิทธิสำคัญที่ปาเลสไตน์จะได้รับคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ รวมถึงสิทธิในการยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการยื่นเรื่องให้พิจารณาความชอบธรรมในการใช้อำนาจของอิสราเอลในเขตยึดครอง รวมทั้งอาชญากรรมกองทัพอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
และแม้ว่าหนทางของปาเลสไตน์ที่จะได้รับการรับรองสถานะความเป็นรัฐยังอีกยาวไกลนัก รวมถึงโอกาสที่จะให้ชนะคดีความและลงโทษอิสราเอลในศาลอาญาระหว่างประเทศก็ดูจะเป็นไปได้ยาก แต่ในเชิงสัญลักษณ์นั้น คะแนนเสียงที่เทให้กับปาเลสไตน์ในครั้งนี้มีแง่มุมให้พิจารณา 2ประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในทางการทูตที่ประสบความสำเร็จในอีกขั้น เพราะท่าทีของบรรดาชาติต่างๆ ทั้งที่ออกเสียงสนับสนุน และไม่ออกเสียง ย่อมชี้ให้เห็นถึงการเห็นใจปาเลสไตน์อย่างเกือบถ้วนหน้า อยู่ที่ว่าจะแสดงท่าทีชัดเจนออกมามากน้อยแค่ไหนอย่างไร แต่ในภาพรวมก็เสมือนยอมรับเป็นนัยว่าปาเลสไตน์สมควรได้รับสถานะความเป็นรัฐ อย่างน้อยที่สุดยังเป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าอุดมคติของเสรีนิยม ที่เน้นการให้ความสำคัญกับศีลธรรมระหว่างประเทศ กลไกขององค์การระหว่างประเทศ และกติกาแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ ยังคงพยายามทำหน้าที่อยู่บ้าง แม้ว่าเจ้าของลัทธิที่สนับสนุนกลไกเหล่านี้ ในกรณีนี้ขอสงวนสิทธิไม่ทำตามอุดมการณ์ แต่ทำตามหลักสัมฤทธิผลนิยมโดยเน้นผลประโยชน์แห่งชาติตามแนวทางของสัจจนิยมเป็นตัวตั้ง ซึ่ง ณ เวลานี้ มุมมองเรื่องความสำคัญของอิสราเอลในนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ นั้น มีข้อมูลที่ชัดเจนและแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะการเขียนเป็นตำราด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายเล่มที่ศึกษาและนำเสนอในประเด็นนี้
และถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่งว่าการเมืองระหว่างประเทศไม่ว่าจะอย่างไรก็หนีไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์ หากจะพิจารณาในมุมนี้ ก็ถือว่าโลกอาหรับและโลกมุสลิมในเวลานี้ก็เริ่มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น จนสามารถทำให้สิ่งไม่เคยเกิดขึ้นและไม่น่าจะเกิดขึ้น ปรากฏเป็นผลที่ไม่พึงประสงค์สำหรับสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลได้
ประเด็นที่สอง การเรียกร้องสิทธิของปาเลสไตน์จะมีน้ำหนัก และความชอบธรรมมากขึ้น แม้ผลที่ออกมาจะคาดหวังได้ยากถึงการลงโทษอิสราเอล แต่เป็นช่องทางในการนำเสนอข้อมูลการกระทำของอิสราเอลให้โลกได้รับรู้อีกช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะช่องทางที่เป็นกลไกซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ส่วนจะเป็นเสือกระดาษหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาบรรดาผู้นำที่ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศซึ่งถูกตัดสินลงโทษก็ล้วนเป็นผู้ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้มีท่าทีสนับสนุนอย่างเปิดเผย และสหรัฐฯ ก็เน้นยำ้มาตลอดว่าสิ่งที่ปาเลสไตน์เคลื่อนไหวในกรณีนี้จะได้เพียงแค่ความสำเร็จเชิงสัญลักษณ์กับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์
การตอบโต้ของสหรัฐฯ และอิสราเอล
ในช่วงเวลาที่มีความพยายามในการยกสถานะนี้ ทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯ ได้พยายามคัดค้านและโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีอับบาสยกเลิกแผนดังกล่าว แล้วให้หันมาใช้แนวทางการเจรจาทวิภาคีในการแก้ปัญหาโดยสองรัฐ (two-state solution) รวมทั้งมีการข่มขู่โดยอิสราเอลว่าหากปาเลสไตน์ไม่ยอมทำตาม อิสราเอลจะชะลอการจ่ายเงินภาษีที่อิสราเอลเป็นผู้เก็บจากประชาชนชาวปาเลสไตน์ในดินแดนที่ยึดครองรวมถึงการสร้างถิ่นที่อยู่ใหม่ให้ชาวยิวเพิ่มเติมในดินแดนดังกล่าว ในขณะที่สหรัฐฯ ก็ข่มขู่ว่าจะตัดเงินช่วยเหลือที่ได้ให้กับปาเลสไตน์ในการบริหารและพัฒนาในเขตเวสต์แบงค์ ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยตัดเงินสนับสนุนองค์การ UNESCO ถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่ยูเนสโกสนับสนุนการขอสถานะสมาชิกเต็มตัวของปาเลสไตน์เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน
ก่อนหน้าการประชุมเพียงหนึ่งวัน ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งทราบดีว่าปาเลสไตน์จะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น ได้กล่าวเตือนประธานาธิบดีอับบาสว่าปาเลสไตน์กำลังเดินผิดทางและผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์แก่ปาเลสไตน์อย่างแน่นอน
ด้าน รอน โปรเซอร์ ทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ได้กล่าวในที่ประชุมต่อจากการแถลงโดยประธานาธิบดีอับบาสว่า
“ตราบใดที่ประธานาธิบดีอับบาสยังพอใจกับผลเชิงสัญลักษณ์มากกว่าความเป็นจริง ตราบใดที่ท่านยังเน้นการเดินทางมานิวยอร์กเพื่อแสวงหามติของสหประชาชาติมากกว่าเดินทางไปอิสราเอลเพื่อเจรจา ตราบนั้นสันติภาพก็จะไกลเกินเอื้อม"
อีกทั้งยังได้เน้นว่าแนวทางของปาเลสไตน์เป็นการดำเนินการข้างเดียว ขาดความชอบธรรม ตราบใดที่ไม่ได้รับปรบมืออีกข้าง ก็ไม่สามารถบรรลุผลได้ ซึ่งมีนัยยะว่าเป็นการไม่ยอมรับความชอบธรรมของมติสหประชาชาติ โดยลืมไปว่าที่อิสราเอลได้รับการรับรองให้เป็นรัฐในดินแดนปาเลสไตน์ก็มาจากการรับรองของที่ประชุมสหประชาชาติ และไม่ได้รับการยินยอมจากชาวปาเลสไตน์และการเห็นชอบจากบรรดาชาติอาหรับเช่นกัน
ซึ่งไม่ทันจะครบ 24 ชั่วโมงหลังการลงมติ รัฐบาลอิสราเอลก็ได้อนุมัติแผนการสร้างถิ่นฐานของชาวยิวจำนวน 3,000 หลังในเขตเยรูซาเล็มตะวันออกของชาวปาเลสไตน์ที่ยึดครองโดยอิสราเอล ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ แต่หากมองในเชิงอำนาจแบบสัจจนิยมและพฤติกรรมของอิสราเอลและสหรัฐฯ ต่อเรื่องนี้ในอดีต มาตรการดังกล่าวรวมทั้งที่จะตามมาหลังจากนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร
สรุปแล้ว ผลจากการชัยชนะของปาเลสไตน์ในครั้งนี้ ถือว่ามีความสำเร็จเพียงแค่เชิงสัญลักษณ์ในทางการทูตในองค์การระหว่างประเทศและสิทธิทางกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ผลในทางปฏิบัติที่จะมีต่อชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตของชาวปาเลสไตน์ยังเป็นสิ่งที่ยืนยันไม่ได้ ตราบใดที่ประชาคมโลกยังคงไม่มีอำนาจในการทำให้กฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศมีผลในการบังคับใช้อย่างเท่าเทียม และมหาอำนาจยังคงเลือกปฏิบัติในการใช้กติการะหว่างประเทศควบคู่กับหลักการสัมฤทธิผลนิยมในการรักษาผลประโยชน์ของตน
ดังนั้น ความปิติยินดีของคนจำนวนมากทั่วโลกร่วมกับชาวปาเลสไตน์ที่โบกธงโห่ร้องด้วยความยินดีในเขตเวสแบงค์กับความสำเร็จในห้องประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งนี้คงจะต้องตระหนักว่าเป็นเพียงความสุขชั่วคราวที่กำลังรอความหวังว่าแนวทางของผู้นำของเขาจะนำไปสู่สันติภาพและชีวิตที่มั่นคงของประชาชนได้หรือไม่ และจะต้องไม่ลืมว่าพี่น้องปาเลสไตน์ในอีกฝั่งหนึ่งในดินแดนกาซ่ากำลังเศร้าโศกกับความสูญเสียในพื้นที่จริงจากการสู้รบกับอิสราเอลในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอำนาจจากที่ประชุมแห่งสหประชาชาติไม่อาจยับยั้งและชดเชยให้ได้

ที่มา :
http://www.prachatai.com/journal/2012/12/44165

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น